Tuesday, April 12, 2011

ปัจฉิมลิขิต บทความ “พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร”



วันที่ 12 สิงหาคม 2551 ผมได้เผยแพร่บทความเรื่อง "พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร" ที่ประชาไทและที่อื่นๆ ขณะนั้น นัยยะความสำคัญของสิ่งที่บทความกล่าวถึง ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันอย่างเต็มที่ ในบทความดังกล่าว ผมได้เล่าถึงการปรากฏของเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถบนเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงวันเข้าพรรษา-อาสาฬหบูชา กลางเดือนกรกฎาคมปีนั้น โดยที่เทปบันทึกพระสุรเสียงนั้นเป็นเทปส่วนพระองค์ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน แต่สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำกลุ่มพันธมิตร กลับสามารถนำมาเปิดให้ผู้ร่วมชุมนุมฟังได้อย่างประหลาด ยิ่งกว่านั้น สนฺธิยังได้เสนอการตีความเทปบันทึกพระสุรเสียงในลักษณะที่สอดคล้องสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรในขณะนั้น ที่กำลังจัดชุมนุมยืดเยื้อเพื่อโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน

บทความของผมยังเสนอด้วยว่า ลำพังเทปพระสุรเสียงส่วนพระองค์บนเวทีพันธมิตรก็นับว่าสำคัญอย่างมากแล้ว บันทึกและคำบอกเล่าของผู้นำพันธมิตรในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับการต่อสู้ของพันธมิตรในปี 2549 ที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้น ได้แก่ บันทึกของคำนูญ สิทธิสมาน (ตุลาคม 2549) ที่กล่าวถึง “ผ้าพันคอสีฟ้า” ที่มีข้อความ “902...74...12 สิงหาคม 2549...แม่ของแผ่นดิน” ซึ่งคำนูญเล่าว่า มี “ท่านผู้ปรารถนาดี” มอบให้ผู้นำพันธมิตรในช่วงการชุมนุมไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร และเงินจำนวน 2.5 แสนบาท ที่ “สุภาพสตรีสูงศักดิ์” และ “ผู้ใหญ่ที่ท่าน[สุภาพสตรีสูงศักดิ์]เคารพ” มอบให้ในช่วงเดียวกัน ซึ่งได้ทำให้ผู้นำพันธมิตร “มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน” และ “ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง” ซึ่งต่อมา สนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวในระหว่างการอภิปรายในสหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ว่า “มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี....ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา” และอีกครั้งบนเวทีพันธมิตรในเดือนมิถุนายน ปีต่อมาว่า “ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน

ดังที่ผมกล่าวข้างต้นแล้วว่า ขณะที่บทความของผมได้รับการเผยแพร่เมื่อ 2 ปีก่อน นัยยะความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันดี แม้แต่ในหมู่ผู้อ่านที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร หลายคนยังมองว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้นำพันธมิตร (ผมไม่คิดว่า เรื่องใหญ่และสำคัญเช่นนี้ พวกเขาจะกล้ากล่าวอ้าง) แต่ไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้ารัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีพันธมิตรเสียชีวิต 2 คน คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ”

สิ่งแรกที่น่าจะสร้างความรู้สึกตกใจคาดไม่ถึง ให้กับผู้ติดตามเหตุการณ์ในวันนั้น คือ ภายในชั่วโมงแรกๆของการปะทะ บนเวทีและทางสื่อพันธมิตร ได้ประกาศว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงพระราชทานเงิน 1 แสนบาท รักษาพันธมิตรที่บาดเจ็บ ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาล(1) แม้ว่าในตอนเย็นวันนั้น จะมีรายงานข่าวจากโรงพยายาลรามาธิบดีทางสื่อพันธมิตรเองว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เข้ารับการรักษาที่นั่น “อย่างเท่าเทียมกัน” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้หมายถึงว่า รักษาผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นพันธมิตรและเจ้าหน้าที่ เพราะดูเหมือนจะไม่มีเจ้าที่บาดเจ็บอยู่ที่นั่น(2) และใน 2 วันต่อมา ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีฆะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้แถลงว่า พระราชินีทรงติดตามข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาล ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า "การพระราชทานความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกคน โดยไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายใด เพราะประชาชนทุกคนนั้นคือพสกนิกรของพระองค์ทุกคน"(3) แต่ความจริง “ประชาชน” ในครั้งนั้นมีเฉพาะฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น เพราะไม่ใช่การปะทะระหว่างประชาชนฝ่ายพันธมิตรกับประชาชนฝ่ายอื่น ที่เหลือที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คือเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆด้วย ถึงกระนั้น ผมคิดว่าการพระราชทานเงินช่วยเหลือครั้งแรกสุดในชั่วโมงแรกๆของเหตุการณ์ที่มีแต่ฝ่ายพันธมิตรบาดเจ็บ ก็ยังเป็นการกระทำที่มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมาก(4)

ถ้าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง เกี่ยวกับเรื่องเงินพระราชทานรักษาผู้บาดเจ็บในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สิ่งที่เป็นเรื่อง “ช็อค” อย่างแท้จริงยังกำลังจะตามมา

วันที่ 9 ตุลาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพวงมาลามาร่วมเคารพศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” แต่ที่สำคัญที่สุดคือ วันที่ 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพให้ “น้องโบว์” ด้วยพระองค์เอง (โดยมีองคมนตรีหลายคน ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ร่วมตามเสด็จ)(5) ในระหว่างงาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครอบครัวระดับปัญญาวุฒิเข้าเฝ้า มีพระราชปฏิสันถารด้วยโดยใกล้ชิด ทั้งยังทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์กับสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตรในที่นั้นด้วย นายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดา “น้องโบว์” ได้เปิดเผยว่าทรงมีรับสั่งกับครอบครัวเขาว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวอังคณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้เรื่องราวโดยตลอด รวมทั้งกรณีพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือมาด้วย..... [อังคณา] เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์....ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะ [อังคณา] ทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ [สมเด็จพระนางเจ้าฯ] ด้วย....เป็นห่วงพันธมิตรทุกคน ไว้จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตร(6)
แทบไม่จำเป็นต้องย้ำว่า น.ส.อังคณา ผู้ตาย (และสนธิ ลิ้มทองกุลเอง) เป็นส่วนหนึ่ง (และเป็นผู้นำ) ของกลุ่มการเมืองที่กำลังชุมนุมยืดเยื้อโดยมีเป้าหมายที่ประกาศเปิดเผยว่า เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ทั้งยังได้กำลังยึดครองทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน (คือไม่นับวังหรือวัด) ต้องถือเป็นสถานที่ราชการที่มีความสำคัญสูงสุด เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

การเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” และพระราชดำรัสที่บิดา “น้องโบว์” นำมาเปิดเผย เป็น “สันปันน้ำ” (watershed) สำคัญของวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้ ซึ่งได้ส่ง “คลื่นแห่งความตกใจ” (shock wave) ทางการเมือง อย่างกว้างขวางใหญ่โต

ในความเห็นของผม นี่คือปัจจัยผลักดันสำคัญที่สุดที่แท้จริงให้เกิด “จิตสำนึก” หรือ “อัตลักษณ์” ของ “ความเป็นเสื้อแดง” การชุมนุมมวลชนนับหมื่นที่พร้อมใจกันใส่เสื้อแดงเป็นครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2551 (ที่เมืองทองธานี) ในท่ามกลางกระแสคลื่น shock wave เช่นนี้เอง แม้การชุมนุมครั้งแรกจะมีก่อนการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” แต่ข่าวเรื่องเงินพระราชทานช่วยพันธมิตรที่บาดเจ็บในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม และพวงมาลาพระราชทานหน้าศพ “น้องโบว์” เป็นที่ทราบกันดีแล้ว(7) และเมื่อถึงการชุมนุมมวลชน “เสื้อแดง” ครั้งที่สอง ที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 (ที่สนามกีฬาราชมังคลา) “จิตสำนึก” เช่นนี้ก็ได้รับการทำให้เข้มข้นอย่างสูง จากเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งถึงตอนนั้นได้รับการ “ขนานนาม” กันในหมู่ “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่งเกิดใหม่ว่าเป็น “วันตาสว่าง” (แห่งชาติ)

ผมตระหนักดีว่า ไอเดียของการใส่ “เสื้อแดง” เพื่อรณรงค์ทางการเมืองในหมู่ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 โดยเฉพาะในกลุ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์ (“บ.ก. ลายจุด”) แต่การใส่ “เสื้อแดง” ในช่วงนั้น เป็นเพียงการกระทำในลักษณะ “ชั่วคราว” สั้นๆ ในคนกลุ่มเล็กๆ และก็ยังมีการ “เปลี่ยนสีเสื้อ” ไปตามกรณี (เช่น สีดำ ในระหว่างรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.) อันที่จริง ถ้าจะกล่าวว่า มี “สี” อะไรที่เป็นสีเสื้อซึ่งประชาชนที่คัดด้านรัฐประหารในปี 2550 ใส่กันมากที่สุด สีนั้นคือ “สีเหลือง” (แบบเดียวกับพันธมิตร)! ประเด็นที่ผมพยายามเสนอในที่นี้คือ เราต้องแยกพิจารณาระหว่าง “กำเนิด” (ในทาง “เทคนิค”) ของไอเดียนี้ กับสิ่งที่ต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมด้วยหลายหมื่นหรือกระทั่งนับแสนคนทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกัน “นิยามตัวเอง” (self-identification) ว่าเป็นพวกที่ไมใช่สีเหลือง (ซึ่งในหมู่พวกเขาจำนวนมากเคยนิยามตัวเอง) ปรากฏการณ์ทาง “การเมืองวัฒนธรรม” ขนาดมหึมาเช่นนี้ จะต้องมองบริบทที่มากกว่าการ “คิดค้น” ทางเทคนิคเรื่องการใส่สีเสื้อ (ที่มีมาก่อนเป็นปี) ดังกล่าว

ไม่เพียงแต่เรื่องการแสดงออกของ “อัตลักษณ์” ทางสีเสื้อที่ไม่ใช่สีเหลืองนี้ การแสดงออกในด้านอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างสำคัญอย่างเห็นได้ชัดหลัง 13 ตุลาคม 2551 ใครที่ติดตามการแสดงความเห็นทางเว็บบอร์ดการเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เรียกได้ว่า “พวกเชียร์ทักษิณ” ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ความคิดหรือการแสดงออกที่ภายหลังถูกศัตรูทางการเมืองของพวกเขากล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” หรือ “ล้มเจ้า” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด อารมณ์ความรู้สึกทั้งในแง่ “ช็อค”, ผิดหวังรุนแรง, “น้อยเนื้อต่ำใจ”, ขณะเดียวกันก็มีด้านที่ “ฮึดสู้” อย่างท้าทาย (defiance) ผสมผสานกันไปในการแสดงออกของกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่ง “เกิดใหม่” นี้ บางส่วนถึงกับ “กระฉอก” (spilling over) เข้าไปในแวดวงสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของพรรคพลังประชาชน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กล่าวต่อสภาฯ เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามเรื่องการยึดครองทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตร “ผมต้องพูดเปิดอกกับท่านทั้งหลายว่า ทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ทราบดีว่า ม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น ถ้าเป็นม็อบธรรมดาจบไปแล้วครับ จบไปนานแล้ว(8) หรือเมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย คนหนึ่งอ้างว่า สส.กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” (กลุ่มที่ถอนตัวจากพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย ไปสนับสนุนประชาธิปัตย์ ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้) 2 คน บอกกับเขาว่า "รู้ไหม ขณะนี้กำลังสู้อยู่กับใคร สู้อยู่กับสถาบันไม่มีทางชนะหรอก"(9)

แต่ที่สะท้อน อารมณ์ความรู้สึกของ “คนเสื้อแดง” หลัง 13 ตุลาคม 2551 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจนเป็นที่กล่าวขวัญกันคือ คำปราศรัยสด (“ไฮด์ปาร์ค”) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่พูดด้วยอารมณ์สะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง “เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า ... ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า ฟ้าอยู่ไกล .... คนเสื้อแดง จะบอกดินบอกฟ้าว่า คนอย่างข้าฯก็มีหัวใจ ... คนเสื้อแดง จะถามดินถามฟ้าว่า ถ้าไม่มีที่ยืนให้สมคุณค่า..จะให้ข้าฯหาที่ยืนเองหรืออย่างไร...(10)


………….......………..



หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ไม่ปรากฏข่าวสารทางสาธารณะเรื่องพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในส่วนที่เกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีก กลุ่มพันธมิตรเองได้ยุติการชุมนุมยืดเยื้อที่รวมถึงการยึดครองทำเนียบรัฐบาลและ (ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน) สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 หลังจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพรรคพลังประชาชนเอง สิ้นสุดลงตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาปีต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ศิลปินนักวาดรูปที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรและเสียมือขวาในระหว่างเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พร้อมภรรยา เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯถวายภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ ที่ชิงชัยวาดด้วยมือซ้ายที่เขาหัดใช้แทนมือขวา ทรงรับสั่งต่อชิงชัยว่า “เก่งมาก”(11)

อีก 1 ปีต่อมา ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรโดยตรง แต่เกี่ยวกับ “คนเสื้อแดง” ที่เป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร ในต้นเดือนสิงหาคม 2553 ได้มีผู้เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ภาพถ่ายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ถึง นภัส ณ ป้อมเพ็ชร แสดงความชื่นชมที่ นภัส เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง CNN วิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของ CNN ระหว่างเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” ที่ราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม ว่าเป็นการรายงานข่าวที่ให้ร้ายรัฐบาลและเข้าข้าง “คนเสื้อแดง” อย่างไม่ถูกต้อง ในจดหมายที่เริ่มเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม (คือยังอยู่ในช่วงที่การปราบปรามของรัฐบาลเริ่มดำเนินไป 2-3 วัน และห่างจากวันที่ยุติ 3 วัน)(12) นภัสได้โจมตี “คนเสื้อแดง” อย่างรุนแรงหลายตอน เช่นกล่าวว่า “คนเสื้อแดง” ได้ “terrorised and harmed innocent civilians” ทำให้ชาวกรุงเทพเช่นเธออยู่ในภาวะ “state of constant terror and anxiety” ว่าจะถูกพวกนั้นโจมตีหรือปาระเบิดเข้าใส่ การกระทำของ “คนเสื้อแดง” เข้าข่าย “terrorist activities” ฯลฯ ในพระราชหัตถเลขาถึง นภัส ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 (คือ 2 เดือนหลังเหตุการณ์ยุติและความเสียหายต่างๆเป็นที่ทราบแน่นอนแล้ว) สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรง “รู้สึกภูมิใจ” ที่นภัส “ยืนขึ้นทำหน้าที่ของคนไทยตอบโต้นักข่าวต่างชาติอย่างองอาจ...ทำให้ประชาคมโลกที่ได้อ่านจดหมายของคุณต้องทบทวนความเชื่อถือที่มีต่อ CNN” ทรง “ชื่นชมยิ่งที่คุณช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศชาติ



เขียนเสร็จ
12 สิงหาคม 2553

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 12 สิงหาคม 2553)