Saturday, September 06, 2008

พระบารมีปกเกล้า : พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร


หมายเหตุ : หากบทความนี้มีประโยชน์ต่อสาธารณะประการใด ขอมอบเป็นการแสดงความนับถือต่อ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ คุณจิตรา คชเดช



ช่วงวันอาสาฬหบุชาที่ผ่านมา ที่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณสะพานมัฆวาณ ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตร ได้นำเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาเปิดให้ร่วมชุมนุมฟัง หลังจากนั้น ได้เสนอการ “ตีความ” เนื้อหาในบันทึกพระสุรเสียงนั้น ผมเห็นว่า ในทุกด้านที่เพิ่งกล่าวมานี้ – ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในบันทึกพระสุรเสียง, การตีความของสนธิ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบันทึกพระสุรเสียงเท่าที่มีการเปิดเผยหรือที่แม้ไม่มีการเปิดเผยแต่เป็นคำถามที่ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ – เหล่านี้ ล้วนมีความน่าสนใจและสำคัญทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อพิจารณาโดยคำนึงถึงภูมิหลังบางอย่างเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรที่ผ่านมา (เช่นกรณี “ผ้าพันคอสีฟ้า”) ดังที่ผมจะอภิปรายต่อไป

แต่ก่อนอื่น ผมขอเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ โดยผมจะจำกัดการแสดงความเห็นของผมให้น้อยที่สุด จะเน้นเฉพาะการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่านั้น

ค่ำวันพุธที่ 16 กรกฎาคม ในระหว่างการปราศัยประจำวันนั้น สนธิได้กล่าวต่อผู้ร่วมชุมนุมว่า (การถอดเทปและเน้นคำเป็นของผม
พี่น้องครับ วันพรุ่งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา อยากให้พี่น้องมากันเยอะๆ พรุ่งนี้ผมมีดีวีดีเทปเสียง พิเศษสุด พี่น้องรู้มั้ยว่า สมเด็จพระนางเจ้าเรานี้ สอนธรรมะด้วย แต่พระองค์ท่านไม่เคยแสดงออกในที่สาธารณะ เทปธรรมะที่เราได้นั้นเป็นเทปธรรมะที่สมเด็จพระนางเจ้า สอนอยู่ในวัง สอนกับข้าราชบริพาร สง่างาม สวยงาม ลึกซึ้ง พรุ่งนี้ผมจะเอามาเปิดให้ฟัง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง “มหามิตร” เรื่องที่สอง คือ เรื่อง “ปาฏิหาริย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนั้นประยุกต์เข้าได้กับชีวิตจริงอย่างยิ่ง พรุ่งนี้พี่น้องมากัน เราจะเวียนเทียนพรุ่งนี้ เราไม่เดินเวียนเทียน พี่น้องเอาเทียนมาคนละเล่ม เราจะจุดเทียนหลังจากที่ฟังเทปของสมเด็จพระนางเจ้าเสร็จ เราจะจุดเทียนเพื่อทำเป็นพุทธบูชา และขณะเดียวกัน เราจะจุดเทียนเพื่อถวายพระพรให้กับสมเด็จพระนางเจ้า ล่วงหน้า ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พี่น้องอย่าลืมนะครับพรุ่งนี้ [เสียงปรบมือ](1)
วันต่อมาวันอาสาฬหบูชา พฤหัสที่ 17 กรกฎาคม ช่วงประมาณ 19 นาฬิกา สนธิในชุดเสื้อขาวกางเกงขาวได้ขึ้นไปบนเวที เขาเริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีจุดธูปเทียนไหว้พระและนำสวดมนต์ (บนเวทีมีการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ จอผ้าขนาดใหญ่ด้านหลังเวทีได้รับการฉายภาพนิ่งพระพุทธรูปขนาดใหญ่) หลังจากนั้น เขาได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถนิมนต์พระรูปใดมาเทศน์ได้ โดยเฉพาะ ว.วชิระเมธี (ซึ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า อาจจะมาปรากฏตัว) “ท่านบอกว่า พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่แจ้งท่านมาว่า ไม่ควรมาขึ้นเวที เพราะนี่เป็นเวทีการเมือง” สนธิ กล่าวต่อไปว่า
ผมก็เลยเผอิญโชคดี เหมือนกับว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะจัดระเบียบ ได้เทปดีวีดี ซึ่งเป็นพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระนางเจ้า ที่พระองค์ท่านได้อัดเทป เป็นการส่วนพระองค์ โดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย พระองค์อัดเสียงของพระองค์ท่านเอง ในเรื่องของพระอานนท์ พระอนุชา กระผมได้เลือกมา 2 ตอน ให้พ่อแม่พี่น้องได้เห็นกันนะครับ ได้ฟังกัน ตอนนึงคือเรื่อง “มหามิตร” ซึ่งประเดี๋ยวกระผมจะเปิดให้พ่อแม่พี่น้องฟัง ขอให้ตั้งใจฟังกันนิดนึง ขอให้ใช้ความสงบ 17 นาที ดื่มด่ำกับพระสุรเสียงของพระองค์ท่าน และขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะเข้าใจ ในเรื่องราวต่างๆที่พระองค์ท่านเล่าให้ฟัง เสร็จแล้วผมเองจะมาขยายความ ในความหมายของ “มหามิตร” ที่พระองค์ท่านได้ตรัสออกมานะครับ ซี่ง “มหามิตร” อันนี้สามารถประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้างเมืองในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์มาก

อันที่ 2 นั้น ผมจะขึ้นเวทีอีกครั้งตอนหลังเที่ยงคืน ก็คือช่วงล่วงเวลาเข้าวันเข้าพรรษา ก็จะเอาเทป ที่สมเด็จพระนางเจ้า ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย มาเปิดให้ฟัง คือเรื่อง “ความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งนัยยะของ “ความมหัศจรรย์พระธรรมวินัย” ที่พระองค์ท่านได้อ่านให้พวกเราฟังนั้น ก็มีความหมายทางการเมืองสูงส่ง ผมอ่านแล้ว ผมฟังแล้ว ผมมหัศจรรย์มากว่า ทำไมมันทันสมัยเช่นนี้ พี่น้องต้องตั้งใจฟัง เพราะว่า 2 เรื่องนี้ อธิบายความเหตุการณ์ในบ้านเมืองได้หมด ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเอาไว้เมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว แต่ว่ามาประยุกต์เหตุการณ์ได้ลงตัวอย่างแม่นยำที่สุด ทั้งๆที่เป็นเรื่องพระธรรมวินัยนะครับ(2)
น่าสังเกตว่า คำอธิบายของสนธิในครั้งนี้เรื่องความเป็นมาของเทปพระสุรเสียง อาจจะแตกต่างกับคำอธิบายของเขาในวันก่อนหน้านั้น คือจากเดิมที่กล่าวว่า “เป็นเทปธรรมะที่สมเด็จพระนางเจ้า สอนอยู่ในวัง สอนกับข้าราชบริพาร” กลายมาเป็น “พระองค์ท่านได้อัดเทป เป็นการส่วนพระองค์ โดยที่ไม่มีใครอยู่ด้วย พระองค์อัดเสียงของพระองค์ท่านเอง” ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ ก็จะยิ่งชวนให้ถามว่า พระสุรเสียงที่ทรง “อัดเทปเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีใครอยู่ด้วย” นั้น สามารถมาอยู่ในมือของสนธิได้อย่างไร?

หลังจากนั้น สนธิได้อธิบายความสำคัญของวันอาสาฬบูชา และความหมายของอริยสัจสี่และมรรคแปด (ซึ่งเขาได้ถือโอกาสโจมตีสมัครและ “นักการเมืองขี้ฉ้อ” ว่าทำผิดพระธรรมคำสอนเหล่านี้ทีละข้อๆอย่างไร) ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเกือบ 10 นาที แล้วสนธิได้วกกลับมาที่เทปพระสุรเสียงอีกครั้ง(3)
พี่น้องครับ เดี๋ยวตั้งใจฟังเสียงสมเด็จพระนางเจ้า ซัก 10 กว่านาทีนะครับ อยากจะขอความสงบนิดนึงนะครับ ขอความกรุณา อย่าพูดเล่นกัน เพราะว่า ถ้าเราตั้งใจฟัง เหมือนกับเราปฏิบัติธรรมไปด้วย วันนี้วันอาสาฬหบูชา การตั้งใจฟังของเรา แล้วซึมซับ ซึมทราบ คำพูดสมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งพระองค์ท่าน เอามาจากหลักธรรม อันนี้เนี่ย มันยิ่งกว่าการไปเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ ถูกมั้ยถูกพี่น้อง นะครับ เพราะฉะนั้นแล้ว เดี๋ยวผมอาจจะต้องดับไฟ แล้วก็เปิดดีวีดีให้เห็น แล้วก็ฟังเสียงให้ดีๆ พอจบแล้ว กระผมจะขออนุญาตขึ้นมาหาพ่อแม่พี่น้องอีกครั้งนึง เพื่อขยายความในรายละเอียดที่สมเด็จพระนางเจ้า ทรงมีพระเมตตาเปล่งพระสุรเสียงออกมา นะครับ เชิญครับ พ่อแม่พี่น้องครับ
จากนั้น จอผ้าหลังเวทีได้เปลี่ยนเป็นภาพนิ่งที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระราชินีพร้อมคำบรรยายดังนี้
บันทึกเทปพระสุรเสียง
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
อ่านหนังสือธรรมะ “พระอานนท์ พุทธอนุชา”
เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศ
สมเด็จพระราชินี ปีที่ ๕๔
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗
พร้อมกันนั้น ก็มีเสียงดนตรีบรรเลงแบบ “อินโทร” สั้นๆดังขึ้น ไม่ถึง 1 นาที (บอกไม่ได้ว่าเป็นดนตรีที่มาพร้อมดีวีดีหรือเป็นดนตรีที่จัดโดยเวทีพันธมิตรเอง) ตามด้วยพระสุรเสียง กินเวลาประมาณ 16 นาทีเศษ(4)

พระสุรเสียงนั้นเป็นพระสุรเสียงที่ทรงอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจริงๆ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “หนังสือธรรมะ” ก็อาจจะพอได้ แต่อันที่จริง งานเรื่อง พระอานนท์ พุทธอนุชา ที่ทรงอ่าน “อัดเทปเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีใครอยู่ด้วย” นี้ เป็นเรื่องแต่งหรือนิยาย ของ วศิน อินทสระ (วศินเองเรียกงานของเขาว่า “ธรรมนิยาย”) งานนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แล้วรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก กลางปี 2509(5) และได้รับการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนปัจจุบัน (ฉบับที่ผมเคยเห็นล่าสุดคือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ปี 2540) เป็นงานที่เรียกได้ว่า “ป๊อบปูล่า” (ได้รับความนิยม) มากทีเดียวในหมู่ผู้สนใจพุทธศาสนา ทุกวันนี้ มีการนำตัวบทงานนี้ทั้งเล่มขึ้นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธหรือเว็บไซต์ส่วนตัวหลายแห่ง ยิ่งกว่านั้น ยังมีการบันทึกเสียงอ่านงานนี้ในลักษณะคล้ายๆอ่านบทละคร มีการใส่ดนตรีและเสียงประกอบเป็นแบ็คกราวน์บางตอน (เช่นเสียง “ช้างวิ่ง” ในตอน “มหามิตร”) แต่ใช้ผู้อ่านคนเดียวทั้งหมด เสียงอ่านนี้สามารถฟังและดาวน์โหลดได้ฟรีทางเว็บไซต์เช่นกัน(6)

มองในแง่หนึ่ง การที่สนธิเสนอว่า “การตั้งใจฟังของเรา แล้วซึมซับ ซึมทราบ คำพูดสมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งพระองค์ท่าน เอามาจากหลักธรรม อันนี้เนี่ย มันยิ่งกว่าการไปเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ” ถือเป็นการทำให้ไขว้เขวเข้าใจผิดได้ (misleading) เพราะความจริง เนื้อหาของพระสุรเสียงนี้ ไม่ใช่ “คำ” ของพระองค์เองที่ทรง “เอามาจากหลักธรรม” เป็นแต่เพียงทรงอ่านหนังสือ ซึ่งแม้จะเป็นงานที่พยายามนำเสนอ “หลักธรรม” แต่ถ้ากล่าวอย่างเข้มงวดแล้ว ก็เป็นเพียงเรื่องแต่งหรือนิยาย ซี่งความถูกต้องแน่นอน (authenticity) ของ “หลักธรรม” ที่สอดแทรกอยู่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยได้ (problematic) ความเป็นนิยายหรือเรื่องแต่งของ พระอานนท์ พุทธอนุชา นี้ วศิน อินทสระ ได้อธิบายเชิงยอมรับไว้ในคำนำของการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกว่า (ขีดเส้นใต้เน้นคำของผม):
เรื่องพระอานนท์ พุทธอนุชา เนื้อหาของเรื่องจริงๆ มีไม่มากนัก ที่หนังสือเล่มใหญ่ขนาดนี้ เพราะการเพิ่มเติมเสริมต่อของข้าพเจ้า ในทำนองธรรมนิยามอิงชีวประวัติ ข้าพเจ้าชี้แจงข้อนี้สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับเรื่องของศาสนานัก อาจจะหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องที่มีหลักฐานทางตำราทั้งหมด สำหรับท่านที่คงแก่เรียนในทางนี้อยู่แล้ว ย่อมทราบดีว่าตอนใดเป็นโครงเดิม และตอนใด แห่งใด ข้าพเจ้าเพิ่มเติมเสริมต่อขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลายตอนที่ข้าพเจ้าสร้างเรื่องขึ้นเอง เพียงแต่เอาพระอานนท์ไปพัวพันกับเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเห็นว่าไม่เป็นทางเสียหายแต่ประการใด
นี่ไม่ได้หมายความว่า เทปพระสุรเสียงที่สนธินำมาเปิดนี้จะไม่น่าสนใจหรือไม่สำคัญ อันที่จริงอาจจะยิ่งน่าสนใจและสำคัญขึ้นไปอีก แต่ไม่ใช่ในฐานะหลักฐานว่า “สมเด็จพระนางเจ้าเรานี้ สอนธรรมะ” (ดูคำปราศรัยสนธิวันที่ 16 ที่ยกมาตอนต้น) อย่างไรก็ตาม การประเมินความสำคัญของเทปพระสุรเสียงนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ตั้งแต่ปัญหาพื้นๆ เช่น ที่ว่าทรงอ่าน “บำเพ็ญพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศสมเด็จพระราชินี ปีที่ 54” นั้น เหตุใดจึงเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2547 ไม่ใช่วันที่ 28 เมษายน (วันอภิเษกสมรส)? หรือในทางกลับกัน ถ้านับวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นหลัก เหตุใดจึงไม่กล่าวว่า เป็นการ “บำเพ็ญพระราชกุศล...เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา”? แต่ปัญหาสำคัญจริงๆคือ สภาพการณ์ที่ทำให้เทปนี้มาอยู่ในมือสนธิ เช่น จะใช่แบบเดียวกับที่เขาเคยอ้างว่าได้ “ผ้าพันคอสีฟ้า” มาหรือไม่? เป็นต้น (ดูประเด็นนี้ข้างหน้า) ซึ่งจะมีผลต่อการตีความนัยยะของเนื้อหาของพระสุรเสียง

แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาพิจารณาที่ตัวเนื้อหานั้นเอง ในเทปพระสุรเสียงที่สนธินำมาเปิดช่วงแรก พระราชินีทรงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา บทที่ 4 “มหามิตร” ทั้งบท แต่ส่วนที่สำคัญจริงๆ ผมคิดว่า คือส่วนแรกสุดของบท ดังนี้(7)
พูดถึงความจงรักภักดี และความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค พระอานนท์มีอยู่อย่างสุดพรรณนา ยอมสละแม้แต่ชีวิตของท่านเพื่อพระพุทธเจ้าได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาตศัตรู วางแผนสังหารพระจอมมุนี โดยการปล่อยนาฬาคิรีซึ่งกำลังตกมันและมอมเหล้าเสีย ๑๖ หม้อ ช้างนาฬาคิรียิ่งคะนองมากขึ้น

วันนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าสู่นครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ในขณะที่พระองค์กำลังรับอาหารจากสตรีผู้หนึ่งอยู่นั้น เสียงแปร๋นแปร๋นของนาฬาคิรีดังขึ้น ประชาชนที่คอยดักถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค แตกกระจายวิ่งเอาตัวรอด ทิ้งภาชนะอาหารเกลื่อนกลาด พระพุทธองค์เหลียวมาทางซึ่งช้างใหญ่กำลังวิ่งมาด้วยอาการสงบ พระอานนท์พุทธอนุชาเดินล้ำมายืนเบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาค ด้วยคิดจะป้องกันชีวิตของพระศาสดาด้วยชีวิตของท่านเอง

"หลีกไปเถิด - อานนท์ อย่าป้องกันเราเลย" พระศาสดาตรัสอย่างปกติ

"พระองค์ผู้เจริญ!" พระอานนท์ทูล "ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทรเป็นที่พึ่งของหมู่นก เหมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา และป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์จตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ"

"อย่าเลย อานนท์! บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงตถาคตลงจากชีวิตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉาน หรือมนุษย์ หรือเทวดา มาร พรหมใดๆ"

ขณะนั้นนาฬาคิรี วิ่งมาจวนจะถึงองค์พระจอมมุนีอยู่แล้ว เสียงร้องกรีดของหมู่สตรีดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน ทุกคนอกสั่นขวัญหนี นึกว่าครั้งนี้แล้วเป็นวาระสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพระศาสดา ผู้บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาซึ่งทรงอบรมมาเป็นเวลายืดยาวนานหลายแสนชาติสร้านออกจากพระหฤทัยกระทบเข้ากับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของนาฬาคิรี ช้างใหญ่หยุดชะงักเหมือนกระทบกับเหล็กท่อนใหญ่ ใจซึ่งเร่าร้อนกระวนกระวาย เพราะโมหะของมันสงบเย็นลง เหมือนไฟน้อยกระทบกับอุทกธารา พลันก็ดับวูบลง มันหมอบลงแทบพระมงคลบาทของพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์อันวิจิตร ซึ่งกำลังมาด้วยบุญญาธิการลูบศีรษะของพญาช้าง พร้อมด้วยตรัสว่า

"นาฬาคิรีเอย! เธอถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"
นาฬาคิรีสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วใช้งวงเคล้าเคลียพระชงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เหมือนสารภาพผิด ความมึนเมาและตกมันปลาสนาการไปสิ้น

นี่แล พุทธานุภาพ !!

ประชาชนเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันสักการบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้และของหอมจำนวนมาก

พระพุทธเจ้า=ในหลวง, เทวทัต/อชาตศัตรู/ช้างเมาตกมัน/ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์=ทักษิณ?
ไม่เป็นการยากที่จะเห็นว่าประเด็น (theme) สำคัญของนิยายตอนนี้ คือความจงรักภักดี พร้อมจะเสียสละแม้แต่ชีวิตตนเองของพระอานนท์ เพื่อป้องกันภัยทีกำลังจะมีต่อพระพุทธเจ้า ปัญหาคือ “ความหมายของ ‘มหามิตร’ ที่พระองค์ท่าน [พระราชินี] ได้ตรัสออกมา….สามารถประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้างเมืองในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ดังที่สนธิอ้างหรือไม่? และการ “ประยุกต์” (ตีความ) ดังกล่าว ถ้าทำได้จริง เป็นเรื่องของสนธิและพันธมิตรเองเท่านั้นหรือไม่? หรือจะเกี่ยวข้องกับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าเทปพระสุรเสียงที่ทรงบันทึก “เป็นการส่วนพระองค์....ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย” มาอยู่ในมือและเผยแพร่ในการชุมนุมของพันธมิตรได้อย่างไร?

สนธิก้าวขึ้นเวทีอีกครั้งหลังเทปพระสุรเสียงอ่าน “มหามิตร” จบลง (จอภาพหลังเวทีเปลี่ยนกลับเป็นรูปพระพุทธรูป) เขาเริ่มต้นด้วยการสดุดีความ “รู้ลึก” ในพุทธศาสนาของพระราชินี ดังนี้
พ่อแม่พี่น้องครับ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ซึ่งรู้ลึกในเรื่องพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านทรงสนใจในพุทธศาสนาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำบุญตักบาตร ทรงบาตรทุกเช้า ตกค่ำสวดมนต์ไหว้พระ พระรัตนตรัย ทรงจัดดอกไม้ที่ห้องพระด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งทุกวันนี้ พระองค์ท่านสนใจพุทธศาสนาโดยมีหลัก 3 ประการที่พระองค์ท่านยึดถือและปฏิบัติ ประการแรก พระองค์ท่านทรงเทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นผู้ประทานองค์ความรู้และความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาให้พระองค์ท่านมาตลอด ประการที่สอง พระองค์ใฝ่ใจในการฟังเทปธรรมะ ตลอดจนสนทนาธรรม กับพระมหาเถระ พระอริยสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นองค์หลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน สมเด็จญาณ พระองค์ท่านให้สร้างที่พักของสมเด็จญาณ ในป่าข้างๆพระราชวัง ภูพิงค์ราชนิเวศน์ และภูพานราชนิเวศน์ เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชไปปฏิบัติธรรม และพระองค์ท่านจะได้เสด็จไปสนทนาธรรมด้วย พระองค์ท่านสนใจในหนังสือธรรมะ อนุสาวรีย์พระองค์ท่านชอบเสด็จไปเยือนตลอดเวลาก็คือ พิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฟั่น หลวงปู่วัน 3 ประการนี้ทำให้แม่ของแผ่นดินองค์นี้มีความรู้ลึกซึ้งในหลักธรรมของพุทธศาสนา
ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นเหตุผลรองรับให้กับการชักชวนผู้ฟังในประโยคถัดไป
พี่น้องครับ เรื่อง “มหามิตร” ที่พระองค์ท่านได้เปล่งพระสุรเสียง เล่าให้พวกเราฟังนั้น นัยยะที่แท้จริงอยู่ตรงไหน พี่น้องฟังให้ดีๆ
หลังจากนั้น สนธิได้สรุปและอ่านจาก “มหามิตร” ตอนที่พระอานนท์เข้าขวางหน้าช้างนาฬาคีรี (ย่อหน้าที่พระอานนท์ทูลพระพุทธเจ้าที่ผมขีดเส้นใต้เน้นคำข้างบน) แล้วเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรโดยตรง:
การเสียสละเพื่อมิตร เสียชีวิตเพื่อคนที่เราจงรักภักดี เหมือนอะไร? เหมือนกับที่พวกเราประชาชนคนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี..... พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีจากร้อยพ่อพันแม่ ต่างเผ่าต่างพันธุ์ แต่เรามาร่วมกันทำความดี ใช่มั้ย เพื่อถวายความจงรักภักดีให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ปรบมือให้กับตัวเองหน่อยเถอะครับ [ผู้ชุมนุมปรบมือ]
ตอนท้าย สนธิได้นำผู้ชุมนุมจุดเทียน “ถวายเป็นพระพรให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญ ถวายพระพรล่วงหน้าให้กับองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชสมภพในวันที่ 12 สิงหาคมนี้”


การเชื่อมโยงเรื่องเล่าโดยพระสุรเสียงพระราชินีเข้ากับการชุมนุมพันธมิตรของสนธิ มีขึ้นอีกครั้งในเวลาเที่ยงคืน คราวนี้ สนธิได้เปิดเทปพระสุรเสียงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา บทที่ชื่อ “ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย” (บทที่ 21 ในหนังสือ พระสุรเสียงที่นำมาเปิดเป็นเพียงช่วงที่ทรงอ่านตอนกลางของบทเท่านั้น) ดังนี้(8)
วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พอพระอาทิตย์ตกดิน พระสงฆ์ทั้งมวลก็ประชุมพร้อมกัน ณ อุโบสถาคาร เพื่อฟังพระโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเองทุกกึ่งเดือน พระมหาสมณะเจ้าเสด็จสู่โรงอุโบสถ แต่ประทับเฉยอยู่ หาแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาจึงนั่งคุกเข่าประนมมือถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายคอยนานแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์เถิด"

แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงเฉยอยู่ เมื่อมัชฌิมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์ก็ทูลอีก แต่ก็คงประทับเฉย ไม่ยอมทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระอานนท์จึงทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามและมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว ขอพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์เถิด"

พระมหามุนีจึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์! ในชุมนุมนี้ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์มีอยู่ อานนท์! มิใช่ฐานะตถาคตจะแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางบริษัทอันไม่บริสุทธิ์" ตรัสอย่างนี้แล้วก็ประทับเฉยต่อไป

พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย นั่งเข้าฌานตรวจดูว่าภิกษุรูปใดเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์อันเป็นที่รังเกียจของพระศาสดา เมื่อได้เห็นแล้ว จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า "ดูก่อนภิกษุ! ท่านออกไปเสียเถิด พระศาสดาเห็นท่านแล้ว" แม้พระมหาเถระจะกล่าวอย่างนี้ ถึง ๓ ครั้ง ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมออกไปจากชุมนุมสงฆ์ พระมหาโมคคัลลานะจึงลุกขึ้นแล้วดึงแขนภิกษุรูปนั้นออกไป
ถึงจุดนี้ คงไม่เป็นการยากที่จะเดาว่า สนธิจะอธิบายพระสุรเสียงตอนนี้ให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างไร เขากล่าวทันทีหลังพระสุรเสียงจบลงว่า
พ่อแม่พี่น้องครับ ธรรมะข้อนี้มีนัยยะสำคัญมากที่สุด ที่ผมอยากจะมากล่าวกับพ่อแม่พี่น้อง และขอให้พ่อแม่พีน้องตั้งใจฟังนั้น เพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พุทธศักราช 2551 นั้นเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงเปรียบเหมือนพระพุทธเจ้า ..... การที่พระพุทธเจ้าไม่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็เพราะว่าในบรรดาบริษัทพระภิกษุที่นั่งอยู่นั้น มีภิกษุองค์หนึ่งซึ่งทุศีล เปรียบเสมือนสังคมซึ่งมีคนไม่ดีอยู่...ต้องรอจนกว่าเราเนี่ยต้องกำจัดเอาคนไม่ดีหรือคนชั่วออกไปซะ.... กรณีนี้ ที่ประชุมสงฆ์มีเพียงพระสงฆ์ที่ทุศีลอยู่เพียงรูปเดียว พระพุทธเจ้าก็ไม่แสดงธรรมแล้ว ทีนี้เกิดอะไรขึ้น? พระโมคคัลลานะ อัครสาวกทางซ้าย...พระพุทธเจ้าทรงมีอัครสาวก 2 ข้าง ซ้ายและขวา พระสาลีบุตรอยู่ขวา พระโมคคัลลานะอยู่ซ้าย พระโมคคัลลานะ คือพระผู้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ ถ้าพระพุทธเจ้าต้องการให้สร้างปาฏิหาริย์ หรือให้ใช้ฤทธิ์ พระองค์ท่านก็จะบอกให้พระโมคคัลลานะเป็นคนทำนะครับ พระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นผู้คลี่คลายปัญหา ... พี่น้องครับ จะเห็นได้ชัดว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบดีอยู่แล้วว่าภิกษุรูปนั้นเป็นใคร แต่พระองค์ทรงนิ่งเงียบถึง 3 ครั้ง เพราะ ข้อแรก ให้โอกาสแก่ภิกษุรูปนั้นกลับตัวกลับใจ แต่ภิกษุทุศีลไม่เข้าใจ และคิดว่าการนิ่งเฉยของพระองค์ คือพระองค์ทรงเมตตาแล้วมองไม่เห็นความชั่วของตัวเอง ข้อที่สอง พี่น้องฟังให้ดีๆ พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะดำเนินการด้วยพระองค์เอง หน้าที่ในการกำจัดภิกษุทุศีล จึงตกอยู่กับพระมหาโมคคัลลานะที่เป็นบุคคลใกล้ชิดพระองค์และเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ดังนั้น ผู้มีฤทธิ์มากสามารถจัดการกับคนชั่วแทนพระองค์ได้ เมื่อมองมาในสังคมไทย.....เราจำได้มั้ยถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บอกว่า เราต้องกีดกันไม่ให้คนชั่วเข้ามามีอำนาจใช่มั้ย เราต้องให้คนดีเข้ามาปกครองประเทศ เราต้องกำจัดคนชั่ว ถามว่าใครจะเป็นผู้มีหน้าที่กำจัดคนไม่ดีออกไป คำตอบคือต้องเป็นผู้มีฤทธิ์มาก เพราะพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต้องนิ่งเฉย พระองค์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมาบอกว่า “ออกไป” หน้าที่นี้ ต้องตกอยู่ที่ผู้มีฤทธิ์ ใช่มั้ย? วันนี้ ผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ที่ไหน? [สนธิขึ้นเสียงตะโกนถาม มีเสียงผู้ชุมนุมตะโกนรับ “ที่นี่”] อยู่ที่ไหน? [“ที่นี่”] อยู่ที่ไหน? [“ที่นี่”] นอกจากผู้มีฤทธิ์ที่นี่แล้ว ทหารก็เป็นผู้มีฤทธิ์เช่นกัน ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้นแล้ว ทำไมถึงมีผู้มีฤทธิ์เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง ที่กระทำตนเป็นพระโมคคัลลานะ? ต้องมีพระโมคคัลลานะอีกองค์หนึ่ง ใช่มั้ย ที่เข้ามากำจัดคนชั่วออกไปเช่นกัน? เราต้องกำจัดคนชั่ว แม้มีเพียงคนเดียวก็ต้องเอาออกไป ใช่มั้ยพี่น้อง และนี่คือหลักธรรม ...........

พี่น้องครับ พระธรรมวินัย [?] เรื่องการไม่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ถึง 3 ครั้งอธิบายความได้ชัด พระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่ได้อยู่สถานะที่จะไปบอกว่าคนนี้ดี คนนี้ชั่ว ใช่มั้ยใช่ แต่พระองค์ทรงทราบด้วยพระทัยของพระองค์เอง ใช่มั้ย ใครทำชั่วอยู่ รัฐบาลทำชั่วอยู่ รัฐมนตรีทำชั่วอยู่ ถวายสัตย์ต่อหน้าพระองค์ท่าน แล้วก็ตระบัดสัตย์วันรุ่งขึ้นทันที อย่าคิดว่าพระองค์ท่านไม่รู้ พระองค์ท่านรู้ แต่ไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่พระองค์ท่านจะทำเช่นนั้น เหมือนพระพุทธเจ้าเช่นกัน ใช่มั้ยใช่ พระพุทธเจ้าเมื่อพึ่งพระโมคคัลลานะ เราไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี แต่เราต้องทำหน้าที่เป็นทหารเสือพระราชา ทหารเสือพระราชินี ใช่มั้ยใช่ พี่น้อง และนี่คือหน้าที่ที่พวกเราได้ทำกัน เหมือนกับสมัยก่อนพุทธกาล ที่พระโมคคัลลานะได้ทำแทนพระพุทธเจ้า พวกเราก็ทำแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่มั้ยใช่ [เสียงผู้ชุมนุมปรบมือ]
แน่นอน ประเด็น (theme) ที่สนธิพูดนี้ ว่าพวกเขากำลัง “สู้เพื่อในหลวง” ไม่ใช่สิ่งใหม่ การเรียกร้องให้ทหาร “ออกมากำจัดคนชั่ว แทนในหลวง” ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่การได้เทปพระสุรเสียงอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา ที่ดูเหมือนจะมีเนื้อหาไปในทำนองนี้พอดี (ขับไล่ “ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์” ออกไปจากที่ประชุมสงฆ์เบื้องพระพักตร์ “พระพุทธเจ้า”) คงจะทำให้ประเด็นนี้มีพลังหรือความหมายมากขึ้นอีกในสายตาของพันธมิตรเอง คงเพิ่มกำลังใจและความหวังในการต่อสู้ให้กับพวกเขาไม่มากก็น้อย ใครก็ตามที่ให้เทปนี้กับสนธิ หวังให้เกิดผลในลักษณะนี้ใช่หรือไม่?


จาก “ผ้าพันคอสีฟ้า” ถึง พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร
ลำพังการที่สนธิและเวทีพันธมิตรสามารถเปิดเทปพระสุรเสียงที่ทรงบันทึก “เป็นการส่วนพระองค์...ไม่เคยเผยแพร่ออกไปที่ไหนเลย” ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทปพระสุรเสียงนั้นมีเนื้อหาที่ดูเหมือนจะ “ประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน” ได้ ในแบบที่สนธิทำ การ “ประยุกต์” (ตีความ) เนื้อหาในเทปดังกล่าว เป็นของผู้เปิดเทป คือสนธิเองเท่านั้น หรือของผู้ให้เทปด้วย? ใครเป็นผู้ให้เทปแก่สนธิ?

แต่ทั้งหมดนี้ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและความสำคัญขึ้น ถ้าเราพิจารณาควบคู่ไปกับภูมิหลังบางอย่างของเหตุการณ์เกี่ยวกับพันธมิตรในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงเดือนกันยายน 2549 ก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน จู่ๆผู้นำพันธมิตรที่เคยปรากฏตัวในเสื้อเหลือง “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะโดยมีผ้าพันคอสีฟ้าผืนหนี่งพันอยู่รอบคอด้วย ในหนังสือ ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า ซึ่งตีพิมพ์ทันทีหลังการรัฐประหาร (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, ตุลาคม 2549) คำนูญ สิทธิสมาน ได้อธิบายเรื่องนี้ ดังนี้(9)
เรากำหนดให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลา 19.00 น. ค่ำวันที่ 15 กันยายน 2549 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะในวันน้นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 16 จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ติดๆกันเป็นอาคารเดียว

เวลา 19.00 น. วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2549 แม้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคน ยกเว้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เดินทางกลับไปปฏิบัติภารกิจที่โรงเรียนผู้นำกาญจนบุรี จะสวมใส่เสื้อสีต่างกันไป แต่ทุกคนมีเหมือนกันอยู่อย่าง

ต่างพันผ้าพันคอสีฟ้า!

เฉพาะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะอยู่ในเสื้อสีเหลือง พันผ้าพันคอสีฟ้า ในทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนนับจากนั้น ไม่ว่าจะที่สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย หรือสนามบินดอนเมือง

ผ้าพันคอสีฟ้าเป็นการแต่งการที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน

แต่เมื่อมีท่านผู้ปรารถนาดีที่ไม่ประสงค์จะให้ออกนามและหน่วยงานนำผ้าพันคอสีฟ้ามาให้จำนวน 300 ผืน เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันนั้น ทั้งคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำอีก 3 คนที่อยู่ ณ ที่นั้น คือ คุณพิภพ ธงไชย, คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข และอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ต่างพร้อมใจกันนำขึ้นมาพันคอทันที ดูเหมือนผู้สื่อข่าวก็สังเกตเห็นในเวลาแถลงข่าว แต่ไม่มีใครถามถึงความหมาย เพียงแต่มีอยู่คนหนึ่งถามขึ้นว่าจะนัดหมายให้ประชาชนพันผ้าพันคอสีฟ้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ในอีก 5 วันข้างหน้าหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่จำเป็น แต่งกายอย่างไรมาก็ได้ ขอให้มากันมากๆก็แล้วกัน

แต่เมื่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล พันผ้าพันคอสีฟ้าในทุกครั้งที่แถลงข่าวนับจากวันนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะพันให้ส่วนที่เป็นมุมสามเหลี่ยมหันมาอยู่ด้านหน้า แบบคาวบอยตะวันตก ไม่ใช่แบบลูกเสือ ก็ทำให้สื่อมวลชนสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไอทีวี ได้โคลสอัพผ้าพันคอผืนนั้นมาออกจอในช่วงข่าวภาคค่ำเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2549 ด้วย

ถ้าสังเกตสักหน่อย ก็จะอ่านได้ว่า

902
74
12 สิงหาคม 2549
แม่ของแผ่นดิน


ผ้าพันคอสีฟ้าผืนนี้ พวกเราที่เป็นทีมงานเก็บไว้คนละผืนสองผืน และนัดหมายกันไว้ว่าจะพร้อมใจกันพันในวันชุมนุมใหญ่ วันพุธที 20 กันยายน 2549 เสื้อสีเหลือง "เราจะสู้เพื่อในหลวง" + ผ้าพันคอสีฟ้า "902..." ขณะเดียวกันคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้สั่งตัดผ้าพันคอสีฟ้าแบบใกล้เคียงกัน ต่างกันแต่เนื้อผ้า และไม่มีคำ "902" เท่านั้น เตรียมออกจำหน่ายจ่ายแจกแก่ประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมในวันนั้น

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน

ศรัทธาที่มีอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอดกว่า 1 ปียิ่งล้นฟ้าสุดจะพรรณนา

…………………………..

เย็นวันที่ 4 กันยายน 2549 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการประสานทางโทรศัพท์จากสุภาพสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งให้ไปพบณที่พำนักของท่านไม่ไกลจากบ้านพระอาทิตย์มากนัก เมื่อไปพบ ท่านได้แจ้งว่าตัวท่านและคณะของท่านรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพ ขอให้กำลังใจ ขอขอบใจที่ได้กระทำการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างกล้าหาญมาโดยตลอด และขอให้มั่นใจว่าธรรมจะต้องชนะอธรรม ก่อนกลับออกมา ท่านได้ฝากของขวัญจากผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพใส่มือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

เป็นกระเป๋าผ้าไทยลายสีม่วงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณกระเป๋าสตางค์ของสุภาพสตรีที่เห็นทั่วไปในงานศิลปาชีพ

เมื่อนั่งกลับออกมา คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เปิดดูพบว่า เป็นธนบัตรใหม่เอี่ยมมูลค่ารวม

250,000 บาท !

เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน !

ศรัทธาที่มีอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอดกว่า 1 ปียิ่งล้นฟ้าสุดจะพรรณนา

ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะอย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง

ช่างเป็นชีวิตช่วงที่บรรเจิดเพริดแพร้วยิ่งนัก !

ภาพและคำบรรยายจาก ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า ของ คำนูญ สิทธิสมาน



อีกเกือบ 1 ปีต่อมา สนธิได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทาง ASTV ได้นำเทปการพูดของเขากับคนไทยที่นั่น มาออกอากาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ตอนหนึ่งของการพูด สนธิได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ดังนี้(10)
เราสามารถที่จะรวมคนได้เป็นหมื่น หลายครั้งเป็นแสน พวกนี้ก้อ เห็นแล้วสิ เฮ้ย ไอ้เจ๊กแซ่ลิ้ม มันใช้ได้เว้ย ก็เข้ามาอยู่ข้างหลัง ตอนนี้ก็เริ่มแล้วสิ พลเอกสุรยุทธโทรมา พลเอกสนธิให้คนใกล้ชิดโทรมา ในวัง ในวังนี่มีเยอะ เส้นสายในวัง ทุกคนสนิทหมด (เสียงคนฟังหัวเราะ) แม่งสนิทกันชิบหายเลย 'ผมนี่ถึงเลยนะ ผมนี่คุณไม่ต้องพูดเลยว่าถึงไม่ถึง คุณมีอะไรคุณพูดมา รับรองถึงหู พระกรรณ' ผมไม่สนใจหรอก เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยเริ่มมาหนุนหลังขบวนการเรา...

จนกระทั่ง มีสัญญาณบางสัญญาณมาถึงผม จู่ๆ ผมสู้อยู่ ก็มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี ปรากฏว่าผมแค่ได้รับวันเดียว ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา โทรศัพท์มาหาผมเต็มเลย ป๋าเปรมให้คนสนิทโทรมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทุกคนโทรมาหมด ถามว่า จริงหรือเปล่า ....
สุดท้าย ในระหว่างวันแรกๆของการชุมนุมยืดเยื้อครั้งนี้ที่สะพานมัฆวาณ สนธิได้ปรากฏตัวพร้อม “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และหมวกคาวบอย) อีก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทยขณะนั้น ได้พูดเสียดสีว่า สนธิ “แอ๊กอาร์ต” ในการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 สนธิจึงตอบโต้กลับว่า(11)
เมื่อวานนี้ เค้าพูดแดกดันผม ซึ่งผมไม่สนใจหรอก แต่เผอิญ มันไปพาดพิงผ้าพันคอสีฟ้าผม ผมก็จะเล่าให้เค้าฟัง .... ผ้าพันคอสีฟ้านั้น ผมได้รับมา ก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน วันที่เราเปิดแถลงข่าวและชุมนุมกันครั้งสุดท้าย ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ จำได้มั้ย ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน ไอ้เบื๊อก ! เป็นผ้าพันคอพระราชทานเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2549 คุณเฉลิม คุณจะพูดจาอะไร คุณระวังปากคุณหน่อย อย่าทะลึ่ง !

เปรม: ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษที่แย่ หรือ กุญแจไขประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย?
สนธิหรือคำนูญไม่ใช่ผู้เดียว ที่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ (ในที่นี้คือพระราชินี) ในบริบทของการเล่ากระบวนการที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา แม้แต่เปรม ก็เคยพูดอะไรที่ชวนให้คิดไปในทางเดียวกันได้

หลังรัฐประหารและการตั้งรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ไม่กี่สัปดาห์ ขณะที่ความชอบธรรมของรัฐบาลสุรยุทธ ยังเป็นปัญหาอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ไปกล่าวปาฐกถาที่สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง โดยมีพลเอกสรยุทธ จุฬานนท์ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยของสถาบันดังกล่าวร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย ตอนหนึ่ง เปรมได้เปรียบเทียบยกย่อง สุรยุทธ ว่าเหมือนกับวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษ(12)
ทุกคนต้องรู้จักมิสเตอร์วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกฯของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มาที่ไปก็คล้ายๆ กับคุณสุรยุทธ คือไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ถูกเชิญมาเพราะควีนเห็นว่าเหมาะสม คุณเชอร์ชิลพูดเรื่องเสียสละ ที่แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง นายกฯสุรยุทธก็เหมือนกัน คล้ายกับเชอร์ชิล มาเป็นนายกฯโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เพื่อชาติบ้านเมือง
ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษของเปรม อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “สอบตก” เพราะความจริง เชอร์ชิล ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 40 ปี รวมทั้งในระหว่างสงครามโลก(13) มิหนำซ้ำ ขณะที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อังกฤษมีกษัตริย์ (คิง) เป็นประมุข ไม่ใช่ราชินี (ควีน) คือ พระเจ้าจอร์ชที่หก แต่การที่เปรมแสดงความรู้น้อยเรื่องประวัติศาสตร์อังกฤษนี้ เพราะเขาอาจจะมัวแต่กำลังนึกถึงปัจจุบันของอังกฤษ (“ควีน” เป็นประมุข) แล้วเลยนึกไปถึงปัจจุบันของไทยกรณีการตั้งรัฐบาลรัฐประหาร ใช่หรือไม่?


“ผ้าพันคอสีฟ้า” - เทปพระสุรเสียง กับกรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” และ “36 แผนที่ชีวิตพ่อ”
ถ้านับจากการปรากฏครั้งแรกของ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ในเดือนกันยายน 2549 การเปิดเผยข้อมูลของคำนูญในเดือนต่อมา (ซึ่งรวมเรื่องเงินสด 250,000 บาท) จนถึงการพูดของสนธิที่สหรัฐอเมริกาและถ่ายทอดมาไทยในเดือนสิงหาคม 2550 และล่าสุดการยืนยันของสนธิอีกครั้งที่เวทีพันธมิตรในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปริศนากรณี “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และเงินสด 2.5 แสนบาท) ก็มีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว

การปรากฏขึ้นอย่างประหลาด ของเทปพระสุรเสียงพระราชินีบนเวทีพันธมิตร มีแต่เพิ่มความเข้มข้นให้ปริศนานี้ ระดับ “ความเงียบ” ที่ตอบสนองต่อเรื่องทั้งหมดนี้ ของสื่อมวลชน, นักวิชาการ และ “สังคม” โดยรวม นับว่าถึงขั้นที่เรียกตามสำนวนฝรั่งว่า “ความเงียบที่ดังแสบแก้วหู” (deafening silence)

ทั้งหมดนี้ ชวนให้นึกถึงกรณีที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันและอาจกล่าวได้ว่า มีบางด้านคล้ายกัน คือ กรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” ปลายปี 2550 หลังจากมีการประชาสัมพันธ์การจัดสร้างพระดังกล่าวเพียงไม่กี่สัปดาห์ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักได้ลงมืออย่างรวดเร็วที่จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก และให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้จัดสร้าง (หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ที่ได้รับการรายงานข่าวคือ สำนักพระราชวัง แต่มีการระบุชื่อท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ซึ่งสังกัดสำนักราชเลขาธิการ)

กรณีสนธิ-พันธมิตร กับ “ผ้าพันคอสีฟ้า” (และเงินสด 2.5 แสนบาท) และ “เทปพระสุรเสียง” จะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายใดหรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องไม่ชัดเจนนัก แต่การชี้แจงในเชิงข้อเท็จจริง ไม่น่าจะอยู่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยราชการที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก ถ้าไม่คิดเปรียบเทียบกับกรณี “พระสมเด็จเหนือหัว” อาจจะเปรียบเทียบกับกรณี “36 แผนที่ชีวิตพ่อ” ที่แม้จะเป็นเพียงการเผยแพร่ทางเว็บไซต์และอีเมล์ สำนักราชเลขาธิการโดยราชเลขาธิการเอง ได้มีจดหมายชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า เป็น “การแอบอ้าง”(14)

ยกเว้นแต่ว่า . . . . . .