Thursday, November 15, 2007

เมื่อในหลวงประชวร ปี 2525 และข้อเสนอว่าด้วย สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน (Mass Monarchy)



ข้างล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามคิดและเขียนของผม ถึงสิ่งที่ผมมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในระยะประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ ในระยะเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับส่วนอื่นของสังคมไทย ทั้งในแง่การเมืองและวัฒนธรรม ได้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต่างออกไปจากก่อนหน้านั้น ซึ่งผมขอให้ชื่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า Mass Monarchy หรือ สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน

ผมเห็นว่า ในระยะใกล้ๆนี้ แม้แต่นักวิชาการใหญ่ๆ เมื่อเขียนถึงสถาบันกษัตริย์ ก็มักจะลืมประวัติศาสตร์ คือลืมไปว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่รอบข้างทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ใหม่มาก การพูดถึง “พระราชสมภารบารมีที่ทรงสั่งสมไว้ในสังคมมาเป็นเวลานาน” (นิธิ, “ระหว่างสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2544) หรือ “พระราชอำนาจนำ” ที่นิยมพูดกันในระยะหลังๆ หรือกระทั่งเรื่อง “โครงการในพระราชดำริ” เป็นต้น ความจริง “วาทกรรม” เหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีอายุไม่เกินประมาณ 20 ปี แต่ฉายภาพ (projection) ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้น แม้แต่บทบาทและสถานะของสถาบันในเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา ทุกวันนี้ก็ถูกมองผ่านเลนส์ของเหตุการณ์พฤษภา ทั้งๆที่มีความแตกต่างอย่างมาก ในลักษณะการเข้าแทรกแซง และผลลัพท์ของการแทรกแซงนั้น การเรียกผู้นำรัฐบาล-ทหารเข้าพบ ต่อหน้าทีวีสด และสั่งให้ยุติเหตุการณ์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คนที่เกิดไม่ทัน 14 ตุลา ก็วาดภาพย้อนหลังกลับไปว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในปี 2516 ด้วย - ดูอีเมล์ “ในหลวงทรงร้องไห้” ที่เผยแพร่เร็วๆนี้ เรื่องในหลวงทรงรับสั่งในเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า “คนไทยจะฆ่าคนไทยด้วยกันไม่ได้ ทุกอย่างต้องสงบโดยฉับพลัน” (ไม่เคยมีรับสั่งเช่นนั้นเลย) หรือขอให้ลองอ่าน หนังสือ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ ของ วสิษฐ เดชกุญชร อย่างใกล้ชิด วสิษฐ์เป็นรอยัลลิสต์อย่างไร ย่อมทราบกันดี แต่สิ่งที่ควรสะดุดใจอย่างยิ่ง เมื่อมองจากปัจจุบันที่พูดกันเรื่อง “สถาบันกษัตริย์แก้วิกฤติ ทำให้เหตุการณ์สงบ หลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ” ฯลฯ คือ ในหนังสือเล่มนั้น วสิษฐ์ไม่ได้เขียนอ้างว่า เหตุการณ์ยุติได้เพราะสถาบันกษัตริย์ (มีข้อความตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ยุติได้ “เพราะพระบารมี” แต่นั่นเป็นเพียงวสิษฐ์เล่าคำพูดของสมบัติ) มิหนำซ้ำ ยังมีบางตอน ที่ถ้าอ่านอย่างเปรียบเทียบกับ “วาทกรรม” เรื่องนี้ในปัจจุบัน นับว่าน่าสนใจยิ่ง คือ วสิษฐ์พูดถึงว่า “พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดูเหมือนจะละลายไปในเหตุการณ์โดยไร้ผล” คือยังมีการปะทะบนท้องถนนอยู่ แน่นอน เขาไม่ถึงขั้นเขียนว่า “พระราชดำรัสของในหลวง ดูเหมือนจะละลายไปในเหตุการณ์โดยไร้ผล” แต่พระราชดำรัสพระราชชนนีมีหลังพระราชดำรัสในหลวงด้วยซ้ำ (หลัง 2 ชั่วโมงกว่า) การที่เขาเขียนเช่นนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับความ “ไร้ผล” ไม่เพียงพระราชดำรัสของพระราชชนนีเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ในท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบ วสิษฐ์เขียนว่า “เป็นครั้งแรกในชีวิตอีกที่ผมระลึกถึงพระสยามเทวาธิราช พระนามนั้นผ่านแวบเข้ามาในใจผมอย่างไรก็ไม่ทราบ...พอระลึกถึงพระสยามเทวาธิราช ผมก็นึกในใจต่อไปว่า หากทรงมีอานุภาพอย่างไร ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทรงช่วยเมืองไทยอีกครั้งหนี่ง” นั่นคือ วสิษฐ์ภาวนาในใจขอให้พระสยามเทวาธิราช ช่วยทำให้เหตุการณ์สงบ ไม่ใช่ในหลวง (การภาวนาในใจนี้เกิดหลังพระราชดำรัสเช่นกัน)

“วาทกรรม” เรื่อง “ในหลวงทรงทำให้ 14 ตุลาสงบ” ด้วยการทรงเข้าระงับเหตุการณ์รุนแรง “พระราชทานนายกฯ” ฯลฯ เป็นสิ่งที่ใหม่มาก ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นเอง มายาคติเรื่องนี้มีผลสำคัญอย่างไร ผู้อ่าน พ.ศ.นี้ คงไม่ต้องให้บอก? การรณรงค์ขอ “นายกพระราชทาน” ของ พันธมิตร, พรรคประชาธิปัตย์ และพวกนักวิชาการอย่างสุรพล (ซึ่งเป็นเด็กเกิดไมทัน 14 ตุลาเหมือนอภิสิทธิ์) มาจากอะไร ถ้าไม่ใช่จากมายาคติเรื่อง 14 ตุลานี้?

คนที่ทุกวันนี้พูดเรื่อง “พระราชอำนาจนำ” อย่างแพร่หลาย ต้องลองนึกย้อนไปถึงสถานการณ์ในปี 2520 ช่วงปลายรัฐบาลธานินทร์ ซึ่งถูกถือว่า เป็นรัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพและโง่เขลาที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์วางระเบิดหน้าพระที่นั่ง และรถจักรยานยนต์ชนรถพระที่นั่ง ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ท้ายๆของรัฐบาลธานินทร์ ไม่ว่าความจริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นฝีมือใคร ก็เหมือนกับเป็นการ “เตือน” บางคนที่สนับสนุนรัฐบาลธานินทร์พร้อมกันไปด้วย แม้แต่วาทกรรมการเมือง อย่างคำว่า “ขวาจัด” ที่ใช้กันในสมัยนั้น ในหมู่นักหนังสือพิมพ์และผู้สังเกตการณ์การเมือง ก็มีความหมายที่เข้าใจกันแพร่หลายถึงบางกลุ่มบางคนด้วย ช่วง 8 ปีของรัฐบาลเปรม ที่ตัวเปรมเองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และเป็นที่ “เบื่อหน่าย” อย่างยิ่งในวงการเมือง แต่สามารถรักษาบัลลังก์ไว้ได้ท่ามกลางการท้าทายต่างๆ ไม่ใช่เพราะความสามารถ แต่เพราะการสนับสนุนแบบ “ฟ้าประทาน” ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ใดก็ตามทีสนับสนุนเปรมเช่นนั้น จะได้รับเครดิตอย่างสูงส่งไปด้วยแน่นอน โดยสรุป "พระราชอำนาจนำ” ที่นักวิชาการบางคนชอบพูดถึง ราวกับเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างสากลมาช้านาน จึงเป็นเพียงภาพที่นักวิชาการที่หลงลืมประวัติศาสตร์ยุคใกล้เหล่านั้น สร้างขึ้นมาเอ (ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง!)

กิจกรรมสรรเสริญพระบารมีที่ทำกันทุกวันนี้ อย่างมีลักษณะแพร่กระจายไปทั่วทุกขุมขนของสังคม ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังทศวรรษ 2530 แล้วทั้งสิ้น การที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้เสนอความคิดเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ชี้นำ อย่างกรณี “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องไม่ปรากฏมาก่อนในอดีต พระราชดำรัส 4 ธันวา เพิ่งมาได้รับการให้ความสำคัญในทศวรรษ 2530 (“รู้รักสามัคคี”, “ทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง”) น่าสังเกตว่า ในบรรดา “พระอัฉริยภาพ” ที่พูดกันเกี่ยวกับในหลวงนั้น ด้านที่ทรงเป็น “นักเขียน” เป็นด้านที่ปรากฏขึ้นหลังสุด หลังด้านอื่นๆ (กีฬา, ดนตรี, ฯลฯ) นานมาก หนังสือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ที่แปลเสร็จตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2536 ตีโต้ ในปี 2537 สองเรื่องนี้ยังเป็นเพียงงานแปล ในหลวงในฐานะ “นักเขียน” เริ่มเต็มที่จริงๆด้วย พระมหาชนก ในปี 2540 ฉบับการ์ตูน 2542 และ ทองแดง ในปี 2545 ฉบับการ์ตูน 2547 (อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของพระเทพในฐานะนักเขียน เป็นการ “ปูพื้น” ให้กับปรากฏการณ์ Mass Monarchy ในด้านการเป็น “นักเขียน” นี้ – งานเขียนของพระเทพ เริ่มเผยแพร่สู่ “ตลาดหนังสือ” อย่างจริงจัง ในปลายทศวรรษ 2520) สิ่งที่ควบคู่กับด้านความเป็น “นักเขียน” ก็คือด้านความเป็น “นักคิด” หรือ “นักปรัชญา” (“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”) การที่นักวิชาการอย่างรังสรรค์ ธนพรพันธ์ สามารถเขียนถึง “ฉันทามติกรุงเทพ” ในฐานะแนวทางต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ภายใต้การชี้นำทางความคิดของในหลวง ก็เป็นอะไรบางอย่างที่เป็นไปได้หลังทศวรรษ 2530 – อันที่จริง หลัง 2540 – เท่านั้น การเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์เข้ากับสังคม ในระดับชีวิตจริงประจำวัน ตั้งแต่ชีวิตทางการเมือง (คำขวัญประเภท “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เป็นคำขวัญที่ไม่มีใครชูมาก่อน) ไปถึงชีวิตประจำวันทั่วไป ในรูป สติ๊กเกอร์, ริสแบนด์ และ, แน่นอน, เสื้อเหลือง (ความแตกต่างระหว่าง “ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน” ที่ใส่เฉพาะงานพิเศษเป็นครั้งๆ กับ เสื้อเหลือง หรือ ริสแบนด์ ที่ใส่ได้ทุกวัน) นี่คือการมีลักษณะ “มวลชน” เป็นครั้งแรกของสถาบันกษัตริย์

ผมจะพยายามอธิบายขยายความและวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้โดยละเอียดในอีกบทความหนี่งที่ว่าด้วยปรากฏการณ์ Mass Monarchy โดยตรง ในที่นี้ ผมขอเสนออย่างสรุป ถึงลักษณะสำคัญ 2 ประการของปรากฏการณ์นี้ ประการแรกเป็นเรื่องการเมืองโดยตรง ประการหลังเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม

1. ในขณะที่การเข้าแทรกแซงหรือส่งผลสะเทือนทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ก่อนทศวรรษ 2530 มีลักษณะของการสื่อสารในวงแคบ เรียกได้ว่าเป็นการ “ส่งซิ้กแนล” ในหมู่ชนชั้นนำ (elite) ด้วยกันเองเป็นหลัก หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้สวมลักษณะของการ “สื่อสาร” โดยผ่าน “สื่อมวลชน” นั่นคือ เป็นการเข้าแทรกแซงโดยโจ่งแจ้งเปิดเผย ให้เป็นที่รับรู้กัน ไม่เพียงในหมู่ชนชั้นนำ แต่ในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วย เป็นการสื่อสารต่อประชาชนมากเท่าๆกับต่อบรรดาชนชั้นนำ

กรณี 14 ตุลา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่เคยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสหรือไม่อย่างไรกับถนอม ที่มีผลหรือไม่เพียงใดต่อการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันแรก และตำแหน่งทางทหารในวันต่อมา จนถึงการเดินทางออกนอกประเทศในที่สุด อันที่จริง ตลอดช่วง 3 ปีหลัง 14 ตุลา มีความเชื่อในหมู่ขบวนการนักศึกษาและผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมาก (ไม่ว่าความเชื่อนี้จะจริงเพียงใด) ว่า ถนอม-ประภาส “กุมความลับ” ในลักษณะ “ข้อตกลงบางอย่าง” กับบางคนไว้ และใช้เรื่องนี้ “ต่อรอง” ขอกลับเข้ามา แม้แต่ในวันแรกๆของการเข้ามาครั้งสุดท้าย ถนอมก็ยังพูดเป็นนัยๆทำนองนี้

อันที่จริง ตรงข้ามกับภาพลักษณ์หรือความเข้าใจที่แพร่หลายในปัจจุบัน แท้ที่จริงแล้ว เป็นเวลานาน (ร่วม 10 ปี เป็นอย่างต่ำ) ที่การเข้าแทรกแซงในกรณี 14 ตุลา ไม่ใช่สิ่งที่ราชสำนักต้องการเชื่อมโยงตัวเองเข้าด้วย (associate) มากนัก ความจริงง่ายๆ ที่คนสมัยนี้ลืมกันไปแล้วคือ ในช่วงอย่างน้อย 10 ปีแรก หลัง 14 ตุลา วาทกรรมเกี่ยวกับ 14 ตุลา เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายครอบงำโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จของการ “ไล่ 3 ทรราช” และการเติบโตอย่างมหาศาลของฝ่ายซ้ายที่ตามมา ไม่ใช่อะไรที่ราชสำนักหรือปัญญาชนอื่นๆที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายต้องการจะมีส่วนร่วมสังฆกรรมด้วยแม้เพียงในแง่วาทกรรม (เร็วๆนี้ ที่มีผู้เสนอว่า “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” จึงเป็นการสะท้อนโดยไม่ตั้งใจของภาพลักษณ์ 14 ตุลา ที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะสำหรับฝ่ายซ้ายในช่วง 10 ปีแรกหลัง 2516 “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” ไม่ใช่อะไรที่จะใช้คำว่า “ข้ามให้พ้น” แน่นอน เพราะในช่วงนั้น 14 ตุลา แนบแน่นกับการเติบโตของฝ่ายซ้าย “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” คือ ประชาธิปไตยของการลุกขึ้นสู้เพื่อ “เอกราชของชาติ ประชาธิปไตยของประชาชน” แต่ที่การเสนอเช่นนี้ มีความหมายอะไรขึ้นมาได้ ก็เพราะภาพลักษณ์ 14 ตุลา ในส่วนที่เป็นชัยชนะของฝ่ายซ้ายนี้ ได้เลือนหายไป และด้านที่เป็นวาทกรรม “สถาบันกษัตริย์ทำให้ 14 ตุลา ยุติ” ได้กลายเป็นกระแสหลักขึ้นมา)