Monday, October 16, 2006

กรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า



ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ “วันกรรมกร” ปีที่แล้ว (พฤษภาคม ๒๕๔๗) ได้ตีพิมพ์บทความประวัติชีวิตถวัดิ ฤทธิเดช ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โดยเขียนโฆษณาบนหน้าปกที่เป็นรูปกำปั้นกรรมกรกำลังชูขึ้นบนพื้นหลังสีแดงอันขึงขังว่า “ฟ้องรัชกาลที่ ๗ ทรง ‘หมิ่นประมาท’! ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกร” ผู้ที่พอมีความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองสยามสมัยหลัง ๒๔๗๕ ย่อมทราบว่าข้อความโฆษณาบนปกศิลปวัฒนธรรมนี้พาดพิงถึง ๑ ในเหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงในลักษณะ “ตำนาน” ให้ถวัติ นั่นคือกล่าวขานกันว่าเขาเป็นคนแรกที่กล้าขนาดฟ้องพระมหากษัตริย์ เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจจนบรรณาธิการเลือกที่จะนำมาโฆษณาบนหน้าปกมากกว่าชื่อบทความเองที่เน้นความเป็น “ผู้นำกรรมกรคนแรก” ของถวัติ(๑) ในบทความและในหนังสือเล่ม (ซึ่งบทความย่อมา) ที่ออกตามมาในเวลาไม่นานหลังจากนั้น การฟ้องพระปกเกล้านี้เป็นเพียงตอนหนึ่งซึ่งไม่ยาวนัก(๒)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่การพูดถึงกรณีนี้ของศิโรตม์มีความคลาดเคลื่อนสำคัญไม่น้อยและไม่มีตอนจบ (คือไม่ได้เล่าว่ากรณีนี้ลงเอยอย่างไร) จริงอยู่เรื่องถวัติฟ้องพระปกเกล้านี้ ปัจจุบันหาหลักฐานชั้นต้นในที่สาธารณะแทบไม่ได้จริงๆ แต่เฉพาะหลักฐานที่มีอยู่ ถ้าหากจะใช้ความระมัดระวังในการวิพากษ์หลักฐานมากกว่านี้ ก็น่าจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านั้นได้ (ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นสำคัญที่ว่า ถวัติฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญา แต่ศาลไม่รับฟ้อง ตามที่ศิโรตม์เขียนนั้น แท้จริงถวัติไม่เคยฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาแต่อย่างใด)(๓) ที่สำคัญ โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า การบรรยายเรื่องราวของถวัติในลักษณะ “ตำนานคนกล้า” (heroic tale) ที่ศิโรตม์ทำ ตามแบบจารีตการเขียน “ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย” อันเป็นที่นิยมในหมู่ปัญญาชน “ทวนกระแส” ซึ่งสังศิต พิริยะรังสรรค์ บุกเบิกไว้เมื่อหลายปีก่อน จะช่วยทำให้เข้าใจชีวิตของถวัติได้อย่างแท้จริง(๔) ผมเห็นด้วยว่าชีวิตของถวัติมีความน่าสนใจ แต่ก็มีความประหลาด “ไม่ลงตัว” หลายประการเกินกว่าจะจับลงไว้ในกรอบการพรรณา (narrative) เรื่อง “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมกร” หรือ “ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย” ได้ (เช่นเดียวกับกรณีร่วมสมัยของนายนรินทร์ ภาษิต ซึ่งบังเอิญกำลังเป็นข่าว “ฮือฮา” พร้อมๆกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าพอดี ด้วยการอดอาหารประท้วง จนมีข่าวว่าใกล้เสียชีวิต)

จุดมุ่งหมายของบทความต่อไปนี้คือ นำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีอันน่าสนใจ “ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า” นี้ โดยจงใจหลีกเลี่ยงไม่สรุปล่วงหน้าว่ามีนัยยะความหมายอะไรและจำกัดการแสดงความเห็นและตีความให้อยู่ในระดับต่ำ ผมควรชี้ให้เห็นด้วยว่า หลักฐานที่เหลืออยู่ขาดความสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะ เป็นที่น่าเสียดายว่า บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างต้นเดือนกันยายนถึงปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของกรณีนี้ ปัจจุบันไม่มีเหลือเก็บอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว เหลือเพียงจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับกรณีนี้ซึ่งไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังให้ข้อมูลที่หาไม่ได้ในหลักฐานสาธารณะที่มีอยู่(๕)

เหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมเรียงตามลำดับเวลาการเกิดก่อนหลัง


จุดเริ่มต้น: ข่าวถวัติจะฟ้องพระปกเกล้าต่อสภา กลางกันยายน ๒๔๗๖
กลางเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ระหว่างวันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้รายงานข่าวว่าถวัติ ฤทธิเดช ที่รู้จักกันในฐานะผู้นำกรรมกรรถราง (เขาก่อตั้งสมาคมรถราง) จะยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่าพระปกเกล้าหมิ่นประมาทตน(๖) เพราะในบันทึก “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” ที่มีการแจกจ่ายระหว่างเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๔๗๕ (ปฏิทินเก่า เทียบปัจจุบันคือ ๒๔๗๖ คือปีเดียวกับที่เรากำลังพูดถึง) มีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงถึงผู้นำกรรมกรรถรางว่า “การที่กรรมกรรถรางหยุดงานนั้น หาใช่เกิดการหยุดเพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนี้นั้นก็เพราะมีคนยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไปเท่านั้น”

ดังที่ถวัติจะเล่าเองในภายหลัง (ดูข้างล่าง) เขาได้ยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยผ่านทางมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้หนึ่ง แต่มังกรไม่ยอมรับ อ้างว่าทำไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่กำลังใช้อยู่ มาตรา ๓ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ไม่ชัดเจนว่าเหตุใดถวัติจึงพยายามฟ้องต่อสภาไม่ใช่ต่อศาล เข้าใจว่า เขาถือโดยอนุโลมตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่มีบัญญัติในมาตรา ๖ ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาไม่มีบทบัญญัติเรื่องฟ้องกษัตริย์ในคดีอาญาไม่ได้ หรือเรื่องให้สภาวินิจฉัยกษัตริย์แล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณามาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญนี้เอง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายนัยยะของการที่ “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คล้ายกับมาตรา ๖ เดิม คือฟ้องกษัตริย์ในคดีอาญาไม่ได้ แต่ไม่ได้พูดชัดเจนเรื่องให้สภาวินิจฉัย (เราจะกลับมาที่ประเด็นนี้ข้างหน้า) เรื่องมังกร สามเสน ไม่รับเป็นผู้เสนอฟ้องของถวัติต่อสภานี้ เข้าใจว่ารู้กันระหว่างถวัติกับมังกร ไม่ได้เป็นข่าวด้วย เพราะคงเกิดภายหลังจากถวัติให้ข่าวเรื่องจะฟ้องต่อหนังสือพิมพ์ไปแล้ว


ผู้ที่ร้อนใจต่อข่าว (๑): รัฐมนตรีมหาดไทย ๑๘ กันยายน ๒๔๗๖
ปรากฏว่า ข่าวถวัติจะฟ้องพระปกเกล้าต่อสภาสร้างความร้อนใจให้กับบางคนอย่างมาก คนแรกคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ วันที่ ๑๘ กันยายน เขาเขียนจดหมายถึงพระยาพหล นายกรัฐมนตรีฉบับหนึ่ง ดังนี้
ที่ ๔๑๑/๘๐๕๐

ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียน นายกรัฐมนตรี

ด้วยมีหนังสือพิมพ์หลายฉะบับ ลงข่าวเรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในบัดนี้ น่าจะเป็นทางเพาะภัยให้แก่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนบ้านเมืองได้อย่างไม่เคยพบเห็น ระวางนี้ ได้ให้กรมอัยยการตรวจอยู่แล้ว ข้าพเจ้าขอโอกาสที่จะได้นำมากราบเรียนในวันนี้เวลาบ่าย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์

สำหรับจดหมายราชการแล้ว จดหมายของพระยาอุดมพงศ์ฉบับนี้ต้องนับว่าใช้ถ้อยคำน้ำเสียงที่รุนแรงไม่น้อย (“เรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในบัดนี้”, “เพาะภัย...อย่างไม่เคยพบเห็น”) แต่ดูเหมือนพระยาพหลเองไม่ได้ตื่นเต้นร้อนใจไปด้วย เมื่อรับจดหมายแล้ว เขาเพียงแต่เขียนลงในตอนท้ายว่า “ทราบ [ลงชื่อ] พระยาพหลฯ ๑๘/ก.ย./๗๖” เท่านั้น ไม่แน่ชัดว่า ที่พระยาอุดมพงศ์ขอเข้าพบในบ่ายวันนั้น พระยาพหลได้ให้เข้าพบหรือไม่(๗)


ผู้ที่ร้อนใจต่อข่าว (๒): พระปกเกล้า ๒๘ กันยายน ๒๔๗๖
พระยาพหลอาจจะเพิกเฉยต่อพระยาอุดมพงศ์ได้ แต่ไม่สามารถเพิกเฉยต่อผู้ที่ร้อนใจต่อข่าวนี้อีกคนหนึ่งได้ ช่วงก่อนวันที่ ๒๘ กันยายน น่าจะไม่เกิน ๑-๒ วัน เขาได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่วังไกลกังวลหัวหิน (เราทราบว่ามีการเข้าเฝ้าจากจดหมายวันที่ ๑๐ ตุลาคม ของราชเลขานุการที่จะอ้างถึงข้างล่าง ส่วนวันที่เข้าเฝ้า เดาจากวันที่ของจดหมายพระยาพหลถึงประธานสภาที่กำลังจะอ้าง) ในระหว่างการเข้าเฝ้านี้ พระปกเกล้าได้มีพระราชกระแสเรื่องการฟ้องพระองค์ของถวัติ และทรงแสดงพระราชประสงค์ให้สภาทำการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ พระยาพหลจึงต้องนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.แล้วมีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
ที่ ส.๔๐๓๗/๒๔๗๖

ที่ทำการคณะรัฐมนตรี วังปารุสกวัน

วันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

นายกรัฐมนตรี เรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เสนอญัตติเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯว่า เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช จะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีพระราชประสงค์จะให้สภาผู้แทนราษฎร ตีความมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ

จึ่งเรียนมาเพื่อท่านได้โปรดนำขึ้นปรึกษาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วนด้วย.

ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
(ลงนาม) พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี


คำขอของพระปกเกล้าผ่านรัฐบาลเข้าสู่สภาครั้งที่ ๑ (๒๘ กันยายน ๒๔๗๖)
เย็นวันเดียวกันนั้น มีการประชุมสภา ญัตติด่วนของรัฐบาล “เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายถวัติ ฤทธิเดช จะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จึงถูกบรรจุเข้าวาระโดยอยู่ท้ายสุด เมื่อถึงเวลา ผู้ทำการแทนประธานสภาเสนอว่าก่อนจะตีความมาตรา ๓ อย่างไร จะขออ่านคำอธิบายมาตรานี้ของพระยามโนประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนุญให้ฟัง แต่ยังไม่ทันได้อ่านก็มีผู้เสนอให้เลื่อนประชุมออกไป เพราะเป็นญัตติสำคัญแต่เพิ่งได้รับบ่ายวันนั้น ยังไม่มีเวลาพิจารณาเพียงพอ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วย โดยตกลงว่าจะพิมพ์คำอธิบายมาตรา ๓ ของพระยามโนแจกให้ไปอ่านกันก่อน(๘)

คำอธิบายของพระยามโนดังกล่าว ให้ไว้เมื่อนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕
คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้ว ก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย(๙)
จะเห็นว่า ขณะที่ยืนยันเหมือนมาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ ว่าฟ้องร้องกษัตริย์ในทางอาญาไม่ได้ พระยามโนไม่ได้พูดถึงการให้สภาเป็นผู้วินิจฉัยหากมีปัญหาทางอาญาเกี่ยวกับกษัตริย์เหมือนในมาตรานั้น (พูดเฉพาะกรณีแพ่ง ให้ฟ้องพระคลังข้างที่แทน) ผมเดาว่า คงเป็นเพราะ สำหรับพระยามโนผู้โน้มเอียงไปทางรัชกาลที่ ๗ ไม่น้อย การมีเรื่องทางอาญากับพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในใจเท่าไรนัก


รัฐมนตรีมหาดไทยเสนอเรื่องเข้า ครม. ๒๙ กันยายน ๒๔๗๖ ตกลงให้ฟ้องถวัติ
ในเวลาเดียวกันกับที่กระบวนการขอให้สภาตีความมาตรา ๓ ซึ่งรัฐบาลทำตามพระประสงค์ของพระปกเกล้าดำเนินไปนี้ พระยาอุดมพงศ์รัฐมนตรีมหาดไทยก็ได้มีหนังสือถึงพระยาพหลเสนอว่าอัยการมีความเห็นให้ฟ้องถวัติได้ (ขณะนั้นกรมอัยการสังกัดกระทรวงมหาดไทย) อันที่จริง เขาเสนอเรื่องนี้ก่อนที่รัฐบาลจะขอให้สภาตีความมาตรา ๓ ด้วยซ้ำ ดังนี้
ลับที่ ๔๓๕/๘๔๗๙

ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งข้าพเจ้าได้มาเรียนชี้แจงแล้วนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ไต่สวนต่อมาแล้ว อัยยการเห็นว่า ควรฟ้องได้ ได้เสนอสำนวนในเรื่องนี้มาด้วย เพื่อได้รับความวินิจฉัยโดยด่วน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์

ครั้งนี้พระยาพหลเขียนสั่งท้ายจดหมายว่า “ให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัย [ลงชื่อ] พระยาพหลฯ ๒๗ ก.ย. ๗๖” แต่กว่าเรื่องจะถูกนำเข้า ครม.ก็เป็นการประชุมวันที่ ๒๙ กันยายน คือหลังการประชุมที่ลงมติขอให้สภาตีความมาตรา ๓ แล้ว (เพราะเรื่องนั้นมีมติไม่เกินวันที่ ๒๘) เรารู้ว่า ครม.ตัดสินใจเรื่องฟ้อง ถวัติเมื่อวันที่ ๒๙ ก็เพราะมีจดหมายยืนยัน ดังนี้
ที่ ข. ๔๐๙๑/๒๔๗๖

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หนังสือเรียนนายกรัฐมนตรี ที่ ๔๓๕/๘๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ เดือนนี้ เสนอสำนวนการไต่สวน หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่อง นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอัยยการเห็นว่าควรฟ้องได้มานั้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนนี้ ให้อัยยการจัดการฟ้องร้องต่อไป

จึ่งเรียนยืนยันว่า

สำนวนการไต่สวนนั้น ท่านได้รับคืนไปแล้ว แต่วันที่ ๒๖ เดือนนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ธำรง
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตามคำบอกเล่าของถวัติเอง เขาถูกอัยการฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกบฏ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน เรื่องนี้คงเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย เพราะพระปกเกล้าทรงทราบ ดังจะเห็นต่อไป น่าเสียดายว่า ขณะนี้ผมยังหาเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องนี้ไม่ได้(๑๐)


คำขอของพระปกเกล้าผ่านรัฐบาลเข้าสู่สภาครั้งที่ ๒ (๕ ตุลาคม ๒๔๗๖)
ในการประชุมสภาครั้งต่อมาในเย็นวันที่ ๕ ตุลาคม ญัตติขอตีความมาตรา ๓ ซึ่งถูกเลื่อนการพิจารณามาจากครั้งก่อนได้ถูกกำหนดให้อยู่ในวาระการประชุมอีก แต่พระยาพหลได้ลุกขึ้นพูดเสนอตั้งแต่เริ่มประชุมว่า “ข้าพเจ้าขอให้พิจารณา คือเอาเรื่องที่บอกให้สภาผู้แทนราษฎรตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะมีญัตติอื่นๆที่จะต้องพิจารณาก่อน คือพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์และเรื่องการภาษี” ผมคิดว่านี่เป็นหลักฐานอีกอันหนึ่ง (นอกจากท่าทีต่อจดหมายพระยาอุดมพงศ์ฉบับแรก) ที่สนับสนุนว่าพระยาพหลเอง ไม่ถึงกับกระตือรือร้นต่อเรื่อง “ถวัติฟ้องพระปกเกล้า-ตีความมาตรา ๓” ทั้งหมดนี้นัก ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่ประชุมอภิปรายพระราชบัญญัติ ๒-๓ ฉบับก่อนจนหมดวาระตามที่เขาเสนอเอง เขาก็สนับสนุนให้เลื่อนการตีความมาตรา ๓ ออกไปโดยไม่มีกำหนด(๑๑)

แต่ก่อนที่สภาจะได้เข้าสู่วาระประชุมปรกติตามข้อเสนอของพระยาพหล ประธานสภาได้หยิบเอาจดหมายของถวัติ ฤทธิเดช ลงวันที่ ๔ ตุลาคม มาปรึกษาที่ประชุม ดังนี้
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีขอร้องเรื่องญัตติด่วนให้พิจารณาก่อน [หมายถึงพระราชบัญญัติ ๒-๓ ฉบับ – สมศักดิ์] ส่วนเรื่องตีความในมาตรา ๓ ขอรอเอาไว้เป็นเรื่องสุดท้าย แต่ก่อนที่จะลงมติอนุญาต ข้าพเจ้าอยากเสนอให้สมาชิกทราบว่า ข้าพเจ้าได้รับหนังสือจากนายถวัติ ฤทธิเดช วันนี้เวลา ๑๒ นาฬิกาเรื่องหนึ่ง มีใจความว่า

สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม
วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

กราบเรียน ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริภาษใส่ความเป็นการหมิ่นประมาทข้าพเจ้าในหนังสือที่ชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม ข้าพเจ้าจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย แต่นายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งฟ้องกลับคืนมายังข้าพเจ้า โดยอ้างเหตุว่า ขัดต่อมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ

ครั้นเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. นี้ กรมอัยยการกลับเป็นโจทก์ฟ้องหาข้าพเจ้ากับพวกว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเป็นกบฏต่อศาลโปรีสภาที่ ๑ คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างไต่สวน

บัดนี้ ข้าพเจ้าทราบว่าสภาผู้แทนราษฎร จะได้ประชุมวินิจฉัยตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอคำแถลงการณ์เปิดคดี ซึ่งข้าพเจ้าให้ทนายของข้าพเจ้าเตรียมทำไว้เพื่อยื่นฟ้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๗๐ ท่าน แต่ต้องระงับไว้ก่อน เพราะอัยยการกลับเป็นโจทก์ ฟ้องข้าพเจ้ากับพวกดังกราบเรียนมาแล้ว

ข้าพเจ้าขอให้ถือว่าคำแถลงการณ์เปิดคดีนี้เป็นคำแถลงของข้าพเจ้าในการที่โต้แย้งคัดค้านความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งไม่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดและผู้ถูกประทุษฐร้ายหรือเสียหายมีอำนาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้

ข้าพเจ้าขอความกรุณาพระเดชพระคุณ ได้โปรดนำคำแถลงการณ์ของข้าพเจ้าซึ่งส่งมาพร้อมกับเรื่องราวฉะบับนี้ แจกจ่ายแด่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๗๐ ท่านเพื่อพิจารณาด้วย จักได้สิ้นวิมุติกังขาในเรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายกันเสียที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(ลงนาม) นายถวัติ ฤทธิเดช

บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องนี้จะให้แจกได้หรือไม่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ให้แจกแก่สมาชิกทั้งหลายได้ แล้วเอาไว้พิจารณาคราวหน้า
ผมไม่แน่ใจว่า “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องนี้” ที่ประธานสภาพาดพิงถึงตอนท้าย หมายถึงอะไร? พระราชบันทึกของพระปกเกล้าเกี่ยวกับมาตรา ๓ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่? เราไม่มีหลักฐานเรื่องนี้เหลืออยู่

ผมอยากตั้งข้อสังเกตในที่นี้เกี่ยวกับจดหมายถึงประธานสภาของถวัติข้างต้น จะเห็นว่าในจดหมายนี้ ถวัติได้ยืนยันข้อเท็จจริง ๒ ประการคือ (๑) เขาตั้งใจจะฟ้องว่าพระปกเกล้าหมิ่นประมาทเขาต่อสภาไม่ใช่ต่อศาล และ (๒) ที่เขากล่าวว่า "ความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ...ไม่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดและผู้ถูกประทุษฐร้ายหรือเสียหายมีอำนาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้" เขาจึงต้องการให้หมายถึง "ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์" ต่อสภา "ได้" ซึ่งก็คือสิ่งที่เขากำลังพยายามทำ

ในที่ประชุมสภาวันที่ ๕ ตุลาคม หลังจากประธานอ่านจดหมายของถวัติแล้ว ที่ประชุมก็ใช้เวลาถกเถียงกันอยู่นานว่า ควรจะอนุญาตให้แจก “คำแถลงการณ์เปิดคดี” ของถวัติหรือไม่ (คือ “คำฟ้อง” พระปกเกล้าที่เขาเตรียมไว้ตอนแรก แต่มังกรไม่รับ น่าเสียดายว่าเอกสารนี้ก็หาไม่ได้แล้วเช่นกัน) ในที่สุด ตกลงร่วมกันว่า การเสนอเรื่องเข้ามาในสภาต้องเสนอผ่านสมาชิก (เสนอแล้วยังต้องให้ที่ประชุมโหวตว่าจะรับหรือไม่) “แถลงการณ์เปิดคดี” ของถวัติที่พยายามเสนอเข้ามา ไม่มีใครยอมเป็นผู้เสนอให้ รวมทั้งตัวประธานสภาด้วย จึงเข้ามาไม่ได้เลย (ยังไม่ต้องถึงขั้นโหวตว่าที่ประชุมจะรับหรือไม่)(๑๒)

เมื่อผ่านเรื่องความพยายามเสนอของถวัติที่จะเสนอเอกสารฟ้องพระปกเกล้าของเขาไปแล้ว ที่ประชุมสภาครั้งนั้นก็หันเข้าสู่วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ๒-๓ ฉบับ แต่ดังที่กล่าวแล้ว หลังจากนั้นแทนที่จะกลับมาพิจารณาตีความมาตรา ๓ ตามที่รัฐบาลยื่นเป็น “ญัตติด่วน” และค้างไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน รัฐบาลเองก็ขอเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด


จดหมายจากพระปกเกล้าถึงพระยาพหล ทวงถามเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖
ผมคิดว่า ในส่วนของรัฐบาล (หรืออย่างน้อยคือตัวพระยาพหล) คงอยากจะลืมเรื่องการตีความมาตรา ๓ ไปเลย สำหรับกรณีถวัติ ก็ถือว่าได้ยื่นฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแล้ว ก็คงอยากปล่อยให้เป็นเรื่องในศาลไปเรื่อยๆ แต่เรื่องไม่ยอมหายไปง่ายๆ อย่างน้อยพระปกเกล้าไม่ทรงถือว่าเป็นเรื่องที่ควร “เลื่อน” ออกไปอย่างไม่มีกำหนดแบบรัฐบาล วันที่ ๑๐ ตุลาคม จึงทรงให้ราชเลขานุการในพระองค์มีจดหมายถึงพระยาพหลฉบับหนึ่ง ดังนี้
ที่ ๓๔๙/๑๖๖๕

กรมราชเลขานุการในพระองค์
หัวหิน

วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖


เรียน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯว่า ตามที่ได้มีพระราชดำรัสแก่ท่านเมื่อมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่สวนไกลกังวลครั้งสุดท้าย ขอให้คณะรัฐมนตรีเสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติแปลความหมายของความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อจะป้องกันการที่มีบุคคลบังอาจฟ้องร้องให้เป็นที่เสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ท่านได้รับสนองพระราชกระแสว่า จะรีบจัดการเป็นการด่วนนั้น เวลาก็ล่วงเลยมาหลายวันแล้ว ยังมิได้ทรงทราบผลว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติประการใด การที่รัฐบาลได้ให้อัยยการฟ้องนายถวัติ ฤทธิเดชกับพวก ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกบฏนั้น ก็เป็นแต่แก้ปัญหาปัจจุบันฉะเพาะเรื่องเท่านั้น ตราบใดสภาผู้แทนราษฎรยังมิได้แปลความหมายในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญให้เด็ดขาดไปว่า บุคคลจะฟ้องพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ ก็ยังอาจมีเรื่องเช่นนี้ได้เสมอ ทรงพระราชดำริว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับพระเกียรติยศ ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าสภาผู้แทนราษฎรจะถวายความเคารพโดยลงมติว่า ผู้ใดจะบังอาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้เป็นอันขาด แต่ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเปิดโอกาสให้บุคคลฟ้องพระมหากษัตริย์ได้แล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะทรงรักษาพระเกียรติยศให้สมควรแก่ประมุขแห่งชาติ และจะน่าเสียใจอย่างยิ่ง

บัดนี้ ใกล้ถึงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ เพื่อพระราชทานพระกฐินตามที่กำหนดไว้ว่าวันที่ ๑๑ เดือนนี้แล้ว ยังมิได้ทรงรับรายงานจากท่านเลย เพียงแต่ได้ทรงทราบจากหนังสือพิมพ์ข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้เสนอญัตตินี้แล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้เลื่อนไปพิจารณาคราวหลัง ซึ่งดูเหมือนหนึ่งว่าการพิจารณาพระราชบัญญัติต่างๆในวันนั้น สำคัญยิ่งกว่าพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ ยังไม่มีกำหนดว่าสภาจะลงมติเด็ดขาดเมื่อไร การที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯในเวลาที่ยังมิได้ทรงทราบฐานะของพระองค์โดยแน่ชัดเช่นนี้ ย่อมไม่พึงปรารถนา จึงโปรดเกล้าฯให้งดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับรายงานเป็นทางราชการว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแปลความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยสมพระเกียรติยศแล้ว

วิบูลสวัสดิ์วงศ์
ราชเลขานุการในพระองค์

เห็นได้ชัดว่าทรงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากกว่าที่รัฐบาลให้อย่างมาก ถึงกับทรงใช้เป็นข้ออ้างไม่เสด็จกลับมาพระราชทานกฐิน อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้ถึงกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม นอกจากเจ้าหน้าที่ในกรมแล้ว ยังไม่ทันที่คนในรัฐบาลจะมีโอกาสรับรู้ ก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ชนิดคอขาดบาดตายขึ้นก่อน กบฏบวรเดชเริ่มขึ้นในเวลาเดียวกับที่จดหมายฉบับนี้มาถึงพอดี(๑๓)


กบฏบวรเดชอ้างกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้า ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖
เมื่อกบฏบวรเดชยกกำลังเข้าประชิดกรุงเทพที่บางเขนเมื่อเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ นั้น ได้หยิบเอากรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้า (ซึ่งความจริงเป็นเพียงข่าว) มาเป็นข้ออ้างอธิบายการกระทำของพวกเขาอย่างหนึ่งด้วย (อีกข้อหนึ่งคือการที่รัฐบาลเอาปรีดีกลับมาเป็นรัฐมนตรี) รัฐบาลตัดสินใจสู้กับกบฏ พร้อมกันนั้น ก็ได้ส่งโทรเลขฉบับหนึ่งลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ถึงพระปกเกล้าที่หัวหิน
ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยเมื่อเย็นวานนี้ ทหารช่างอยุธยาเคลื่อนมาถึงบางเขน และนครราชสีมาเคลื่อนมาถึงดอนเมือง เมื่อ ๑๔ นาฬิกาเศษวันนี้ พระแสงสิทธิการ นำหนังสือนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม มายื่น มีใจความว่า คณะรัฐบาลนี้ปล่อยให้คนลบหลู่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐมนูธรรมกลับเข้ามาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ต่อไป จึงขอให้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งภายใน ๑ ชั่วโมง ถ้ามิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารเข้าเกี่ยวข้องด้วย

โดยที่ข้อหาสองข้อนี้ไม่มีความจริง รัฐบาลได้รีบสั่งฟ้องผู้ลบหลู่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้วางหลักประกันไว้แล้วว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมจะไม่เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว.....(๑๔)

คำขอของพระปกเกล้าผ่านรัฐบาลเข้าสู่สภาครั้งที่ ๓ (๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖)
หลังการกบฏสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ในกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตรวจพบจดหมายของราชเลขานุการในพระองค์ข้างต้น และได้เสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลวงธำรง) รับรู้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า จดหมายฉบับดังกล่าว ได้นำไปสู่การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีอย่างไรหรือไม่ มีเพียงลายมือของเจ้าหน้าที่บันทึกไว้ว่า “เสนอเลขาธิการ หนังสือฉะบับนี้รับไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตอนเย็น ตั้งใจไว้ว่าจะเสนอวันที่ ๑๒ แต่พอเกิดเรื่องจึงมิได้เสนอ เพิ่งได้ตรวจดูวันนี้ [ลงชื่อ] ชำนาญอักษร ๑๘/๗/๗๖” และ “เลขาธิการมีบัญชาให้รวมเรื่องไว้ [ลงชื่อ] ชำนาญอักษร ๑๘/๗/๗๖” (เดือน ๗ ตามปฏิทินเก่า คือตุลาคม)

ประมาณ ๑ เดือนต่อมา ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ รัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ เข้าสู่สภาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมร่างการตีความที่ต้องการให้สภาลงมติรับรองไว้ล่วงหน้า:

ญัตติตีความมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม

สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญา หรือแพ่ง เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์

ในกรณีแพ่ง การฟ้องร้องในโรงศาล ให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง

ส่วนในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้
ก่อนจะนำเสนอต่อสภา รัฐบาลยังได้ให้พระยานิติศาสตร์ไพศาล กับหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่สงขลา (ทรงย้ายที่ประทับไประหว่างเกิดกบฏ) กราบบังคมทูลเสนอร่างการตีความนี้ให้ทรงรับรองก่อน พระยานิติศาสตร์กับ “ท่านวรรณ” ได้โทรเลขผลของการเข้าเฝ้ามายังรัฐบาลในวันที่ ๒๓ นั้นเองว่า “ร่างญัตติตีความมาตรา ๓ นั้นโปรดแล้ว [ลงชื่อ] นิติศาสตร์ วรรณไวทยากร” (๑๕)

เมื่อถึงเวลาประชุมสภา หน้าที่การนำเสนอญัตติในนามรัฐบาลครั้งนี้ตกเป็นของปรีดี พนมยงค์ (เขาเพิ่งกลับจากการถูกบังคับให้ออกนอกประเทศระหว่างวิกฤติเค้าโครงการเศรษฐกิจ ถึงสยามเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๗๖ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีวันที่ ๑ ตุลาคม จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้า-ตีความมาตรา ๓ ในตอนต้น) เขาเริ่มต้นอย่างน่าสนใจ ดังนี้
มีเรื่องที่จะเสนออีกเรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้รับฉันทะจากคณะรัฐมนตรีให้มาแถลงให้ที่ประชุมทราบ คือเรื่องความบาดหมางและความมัวหมองต่างๆอันเกี่ยวกับเรื่องกบฏเกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องเร้าใจให้ข้าพเจ้าอยากแถลงความจริงต่อที่ประชุม เรื่องนี้พวกเราเองต้องการจะสมานสามัคคีปรองดองให้มีขึ้นในระหว่างราษฎรและถึงแม้ในพระมหากษัตริย์ก็เหมือนกัน เราพยายามป้องกันจนสุดความสามารถ และให้เกียรติยศอันสูงเพื่อมิให้พระองค์ได้ทรงรับความมัวหมองไปด้วย ฉะนั้นจึงเห็นว่าสภาฯนี้ควรจะตีความในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ(๑๖)
ผมคิดว่า นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดครั้งนี้รัฐบาลจึงมีความจริงจังที่จะให้มีการตีความออกมา ต่างจาก ๒ ครั้งก่อนหน้านั้น พูดง่ายๆคือ กบฏบวรเดชทำให้รัฐบาลรู้สึกจำเป็นมากขึ้นที่จะต้องพยายามมีสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์ จึงหวังว่าการตีความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์นั้น แม้ปรีดีไม่ได้พูดออกมา แต่เราอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลรู้สึกสั่นคลอน (vulnerable) จากการกบฏ (หรืออย่างน้อยก็ตัวปรีดีเอง สังเกตคำของเขาที่ว่า “กบฏเกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องเร้าใจให้ข้าพเจ้าอยากแถลงความจริงต่อที่ประชุม”)

หลังจากนั้น ปรีดีได้อธิบายการตีความมาตรา ๓ ด้วยถ้อยคำที่ไม่ต่างกับร่างญัตติที่เตรียมไว้นัก ที่น่าสังเกตคือ แทบไม่มีการอภิปรายจากสมาชิกสภาเลย ความจริง ข้อเสนอของรัฐบาลถ้าอภิปรายซักถามกันจริงๆ น่าจะเห็นช่องว่างและปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่า “ในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเป็นไปโดยยุตติธรรมได้” นั้น หมายความว่าอย่างไร? คดีอาญาประเภทไหนบ้างที่อาจจะ “บังเอิญเกิดขึ้น” ได้? ในลักษณะใด? ถ้า “สภาไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดี” แล้วจะ “จัดการ...โดยยุตติธรรม” ด้วยวิธีใด? “ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ” ในที่นี้ คืออย่างไร? ดูเหมือนว่าในสถานการณ์ขณะนั้น แทบทุกคนอยากจะช่วยรัฐบาล “สมานสามัคคีปรองดอง” กับพระมหากษัตริย์ และไม่ต้องการเพิ่มปัญหาด้วยการพิจารณาญัตตินี้อย่างละเอียดเข้มงวด ในความเป็นจริง ข้อเสนอตีความของรัฐบาลครั้งนี้ แทบไม่มีอะไรใหม่เลย ถ้าไม่นับเรื่องคดีแพ่งที่เพิ่มขึ้นมาว่าให้ฟ้องกระทรวงวัง ส่วนใหญ่ก็คือมาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง และไม่ต่างอะไรกับคำอธิบายของพระยามโนเมื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาเอง (ยกเว้นเรื่องให้สภา “จัดการ” ซึ่งกลับไปหามาตรา ๖ และเปลี่ยนจากพระคลังข้างที่เป็นกระทรวงวังในคดีแพ่ง)

ในที่สุด ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ตีความมาตรา ๓ ตามที่รัฐบาลเสนอ แต่ก่อนลงมติ มีผู้พาดพิงถึงกรณีถวัติ ฤทธิเดช ดังนี้
พระยาปรีดานฤเบศร์ ถามว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องตีความในที่นี้ เดี๋ยวนี้นายถวัติฟ้องในหลวงแล้วหรือยัง ถ้ายังจะไปตีความทำไม

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ตอบว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้ตีความ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้อยากพูดถึงญัตติเดิม

พระยาปรีดานฤเบศร์ กล่าวว่า เรื่องฟ้องนายถวัติ ฤทธิเดช รัฐบาลได้ส่งฟ้อง

หลวงประดิษฐมนูธรรม กล่าวว่า นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่สภาฯกำลังจะพิจารณาอยู่นี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้ใดอยากจะทราบเรื่องนี้ เมื่อเลิกประชุมแล้ว ขอให้มาถามข้าพเจ้าได้โดยส่วนตัว เพราะไม่ต้องการจะแถลงในที่นี้


ถวัติเข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษ ๒๕ (?) พฤศจิกายน ๒๔๗๖
ผมไม่ทราบว่าการพูดแบบปริศนาของพระยาพหลเรื่องถวัติถูกรัฐบาลฟ้อง ในที่ประชุมสภาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน หมายความว่าอะไร แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งพบหลักฐานว่า แทบจะในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังเสนอให้สภาตีความมาตรา ๓ เพื่อ “สมานสามัคคีปรองดอง” กับพระปกเกล้าหลังกบฏบวรเดชนี้ ถวัติเองได้ไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าถึงสงขลาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ วันที่เข้าเฝ้าแน่นอนไม่เป็นที่ทราบ แต่คงประมาณวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน หรือก่อนวันนั้นไม่กี่วัน เพราะมีจดหมายลงวันที่นั้นของราชเลขานุการในพระองค์ยืนยันเรื่องการเข้าเฝ้า
ที่ ส.ข. ๖๕/๒๔๗๖

กรมราชเลขานุการในพระองค์
สงขลา

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖


ราชเลขานุการในพระองค์ เรียน นายกรัฐมนตรี

ด้วยนายถวัติ ฤทธิเดช กับ นาย ต. บุญเทียม ได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานอภัยโทษ ในการที่ได้หมิ่นพระบรมเดชนุภาพนั้น ทรงพระราชดำริว่า นายถวัติ ฤทธิเดช เข้าใจผิดในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นของใหม่ และนาย ต. บุญเทียม มิได้มีเจตนาร้าย เพราะฉะนั้นไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเอาโทษแก่นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก และได้ทรงรับการขมาแล้ว คณะรัฐบาลจะจัดการให้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษโดยทันทีเมื่อศาลวินิจฉัยความเรื่องนี้แล้ว หรือจะจัดการโดยวิธีใดก็แล้วแต่จะเห็นสมควร วิธีที่จะจัดการอย่างใดนั้น ขอให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยแน่ชัด และอย่าอ้างว่า โปรดเกล้าฯให้จัดดังนั้น และถ้าให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความให้ถูกต้องชัดเจนด้วยจะเป็นการดีมาก

พระพิจิตรราชสาส์น [?]
ลงนามแทน ราชเลขานุการในพระองค์

ผมไม่แน่ใจว่าควรอธิบายจังหวะก้าวนี้ของถวัติอย่างไร เพราะไม่มีหลักฐานนอกจากนี้เหลืออยู่ (กรณี ต.บุญเทียม ผมก็ไม่มีข้อมูลว่าได้ไปทำอะไรไว้ ทำให้ต้องมาขออภัยโทษด้วย) น่าสังเกตด้วยว่า ถวัติน่าจะได้เข้าเฝ้าในเวลาที่ใกล้เคียงอย่างมากกับตัวแทนรัฐบาล “ท่านวรรณ” และพระยานิติศาสตร์ไพศาล


รัฐบาลไม่ยอมถอนฟ้องถวัติ ปลายธันวาคม-ต้นมกราคม ๒๔๗๖
อย่างไรก็ตาม แม้ถวัติจะประสบความสำเร็จในการได้รับอภัยโทษจากรัชกาลที่ ๗ แต่รัฐบาลเองกลับไม่ยอมเลิกล้มการฟ้องเขาในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีปลายเดือนต่อมา:
๑๙. เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๔๙/๒๔๗๖ ข้อ ๑๕)

ปรึกษาเรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ยื่นหนังสือขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ เพราะได้ไปเฝ้าทูลฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้ทรงรับขมาแล้ว

ที่ประชุมตกลงว่าให้คงดำเนินคดีในศาลต่อไป เพราะถ้าถอนฟ้องจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และอาจเกิดความไม่สงบได้ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้วพระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้ ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียกตัวนายถวัติ ฤทธิเดชมาเจรจาเพื่อฟังคารมดูก่อน(๑๗)
ปรากฏว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เรียกถวัติมาเจรจา “ฟังคารมดูก่อน” ซึ่งหลวงธำรงได้รายงานกลับให้ที่ประชุมทราบในสัปดาห์ต่อมา
๑๓. เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดช ขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๓/๒๔๗๖ สมัยที่ ๒ ข้อ ๑๙)

นายเรือเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เสนอว่า ตามที่ที่ประชุมนี้ตกลงให้เจรจากับนายถวัติ ฤทธิเดช ในเรื่องที่ขอทราบว่ารัฐบาลจะถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้คงดำเนินคดีในศาลต่อไปนั้น ได้เรียกนายถวัติ ฤทธิเดชมาเจรจาแล้ว นายถวัติว่า ถ้าแม้รัฐบาลจะให้ดำเนินคดีต่อไปแล้ว นายถวัติไม่ต้องการ เพราะวิธีนี้ไม่เป็นการชอบธรรม และถ้าแม้รัฐบาลจะใช้วิธีนี้ต่อนายถวัติแล้ว นายถวัติก็จะขอเป็นจำเลยทางศาลและจะเป็นโจทก์ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางสภาต่อไป

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงขอรับเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ที่ประชุมตกลงอนุมัติ(๑๘)


รัฐบาลยอมยุติเรื่องโดยให้ถวัติทำฏีกาขออภัยโทษอย่างเป็นทางการ ต้นมกราคม ๒๔๗๖
ผมคิดว่าในทางปฏิบัติ ต่อให้ถวัติทำตามคำขู่ที่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ถอนฟ้อง เขา “จะเป็นโจทก์ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางสภาต่อไป” จริง ก็คงไม่ได้ผลอะไรนัก เพราะยากจะเป็นไปได้ว่าสภาจะเปลี่ยนใจมารับฟังเรื่องของเขา ในแง่นี้ คำขู่ของเขาคงไม่ทำให้รัฐบาลวิตกอะไร แต่รัฐบาลคงต้องการให้เรื่องนี้จบๆไปมากกว่า จึงได้เปลี่ยนใจเรื่องถอนฟ้อง ควรกล่าวด้วยว่า ถวัติเอง ขณะที่ขู่ว่าจะฟ้องพระปกเกล้าอีก อันที่จริง ได้ทำการติดต่อกับพระปกเกล้า ทำนองทวงถามว่า ในเมื่อทรงให้อภัยโทษเขาแล้ว จะไม่ให้อภัยโทษเรื่องคดีที่เขากำลังถูกฟ้องศาลด้วยหรือ (ซึ่งความจริงถวัติย่อมทราบว่าคดีเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ใช่ของพระปกเกล้า) ทำให้พระปกเกล้าต้องสั่งกระทรวงวังให้สอบถามมายังรัฐบาล
ที่ ๘๗/๑๗๙๒

วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ด้วยนายถวัติ ฤทธิเดช ทูลเกล้าฯถวายหนังสือว่า เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกบฏตามที่ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ส่วนคดีจะยังมีพระราชประสงค์ให้ศาลดำเนินการต่อไปหรือจะพระราชทานอภัยโทษ มีความพิศดารดังสำเนาที่ส่งมาด้วยแล้ว โปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้านำขึ้นปรึกษาคณะรัฐมนตรีว่า จะควรตอบอย่างไร และมีพระราชกระแสว่า ความจริง การที่ถอนฟ้องคดีหรือดำเนินการไปอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะจัดการ ไม่ใช่พระราชธุระ

ฉะนั้นจึ่งเรียนมา เพื่อนำเข้าปรึกษาในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
เจ้าพระยาวรพงศ์(๑๙)

ในที่สุด เรื่องถวัติถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๖ โดยรัฐบาลตัดสินใจยุติเรื่องด้วยการให้ถวัติทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการ (การเข้าเฝ้าขอและรับพระราชทานอภัยโทษที่สงขลาของถวัติไม่เป็นทางการ) เพื่อจะได้ให้ลงพระปรมาภิไธยประกาศให้อภัยโทษก่อนคดีสิ้นสุด
๑๐. เรื่อง การอภัยโทษนายถวัติ ฤทธิเดช

ปรึกษาเรื่องราชเลขานุการในพระองค์ เชิญพระราชกระแสมาว่า นายถวัติ ฤทธิเดช กับ นาย ต. บุญเทียม ได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานอภัยโทษในการที่ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทรงพระราชดำริว่า นายถวัติ ฤทธิเดช เข้าใจผิดในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นของใหม่ และนาย ต. บุญเทียม มิได้มีเจตนาร้าย จึ่งไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเอาโทษแก่นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก และได้ทรงรับการขมาแล้ว คณะรัฐบาลจะจัดการต่อไปอย่างไรก็แล้วแต่จะเห็นสมควร แต่ต้องเป็นไปในความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยแน่ชัด

ที่ประชุมตกลงว่า คดีที่นายถวัติ ฤทธิเดชกับพวกเป็นจำเลย ต้องหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ เป็นคดีความผิดสภาพมหาชน ซึ่งกรมอัยยการเป็นโจทก์ มิได้เกี่ยวด้วยเอกชนใดๆเลย จึ่งเป็นคดีซึ่งถ้าจะเทียบกับกฎหมายอังกฤษแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะพระราชทานอภัยโทษได้ และการพระราชทานอภัยโทษนั้น ถ้าเทียบกับกฎหมายอังกฤษแล้ว จะพระราชทานก่อนศาลพิพากษาลงโทษก็ได้

เมื่อความปรากฏว่าไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเอาโทษแก่นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก และได้ทรงรับการขมาแล้ว ประการหนึ่ง และบัดนี้นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ก็ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามทางการแล้วอีกประการหนึ่ง จึ่งเห็นด้วยว่าสมควรจะได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไป(๒๐)
เฉพาะประเด็นที่รายงานการประชุมกล่าวว่า ถวัติ “ได้ทูลเกล้าถวายฎีกา...ตามทางการแล้ว” นั้น ผมเข้าใจว่าเป็นการเขียนแบบล่วงหน้า (ตัวรายงานการประชุมทำขึ้นจริงหลังวันประชุม) เพราะผมพบหลักฐานการทำฎีกาดังกล่าวหลังวันประชุมนี้ คือในวันต่อมา (๑๐ มกราคม) ดูเหมือนว่า หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้แล้ว เลขาธิการ ครม.ได้จัดการนัดแนะให้ถวัติไปพบ ม.จ.วรรณไวทยากร เพื่อให้ทรงช่วยทำฎีกาอย่างเป็นทางการ ดังที่ “ท่านวรรณ” ทรงเล่าในจดหมายถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี:
ด่วน

กระทรวงการต่างประเทศ
วังสราญรมย์, กรุงเทพฯ

วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

หนังสือที่ น.๗๔๘๕/๒๔๗๖ ลงวันที่ ๙ เดือนนี้ ว่าได้นัดให้นายถวัติ ฤทธิเดช กับนายร้อยตำรวจตรี วาศ สุนทรจามร ไปพบกับข้าพเจ้าในวันที่ ๑๑ เดือนนี้นั้น ได้รับทราบแล้ว

เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าจัดการให้เสร็จได้ก่อนเสด็จไปในวันที่ ๑๒ จะเปนการการสดวก เพราะว่าถ้าจะตกไปอยู่ในพระวินิจฉัยของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว อาจจะเนิ่นช้าไปได้ ข้าพเจ้าจึงได้เชิญนายถวัติ ฤทธิเดช กับนายร้อยตำรวจตรี วาศ สุนทรจามร มาพบข้าพเจ้าในวันนี้ และได้ทำความตกลงกันแล้ว คือให้นายถวัติ ฤทธิเดช ทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งนายถวัติ ได้ทำขึ้น และข้าพเจ้าตรวจดู เห็นว่าเป็นอันใช้ได้แล้ว จึงได้ส่งมาในที่นี้พร้อมกับร่างหนังสือเจ้าคุณนายก เพื่อกราบบังคมทูลในเรื่องนี้ด้วย ขอคุณหลวงได้เตรียมพระราชหัตถเลขาพระกรุณา จะได้ทรงมีเวลาพระราชทานพระราชวินิจฉัยก่อนวันที่ ๑๒

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
วรรณไวทยากร วรวรรณ

วันต่อมา พระยาพหลได้มีหนังสือถึงพระปกเกล้า (คงจะเป็น “ร่างหนังสือเจ้าคุณนายก” ที่ “ท่านวรรณ” กล่าวถึงในจดหมายข้างต้น) ทูลเกล้าถวายฎีกาของถวัติ พร้อมร่างพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมไว้ หลังจากได้รับ พระปกเกล้าทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างนั้น แล้วส่งกลับมาให้รัฐบาล พร้อมข้อเสนอใหม่บางอย่าง:
ที่ ๖๔๐/๒๔๕๔

กรมราชเลขานุการในพระองค์

วันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

เรียน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

ตามหนังสือที่ ก.๗๖๐๕/๒๔๗๖ ลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ว่า คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษ ได้ทรงรับการขมาแล้ว บัดนี้นายถวัติ ฤทธิเดช กับพวกได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามทางการด้วยแล้ว คณะรัฐมนตรีเห็นควรพระราชทานอภัยโทษ แม้ศาลยังมิได้พิพากษาก็ดี ท่านจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังในร่างพระราชหัตถเลขาอภัยโทษนั้น ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

โปรดเกล้าฯว่า ในเรื่องนี้ ได้พระราชทานพระราชกระแสแล้วว่า ไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษ ฉะนั้น จะจัดการอย่างไร ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลจะเห็นควร ไม่ทรงขัดข้อง และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษในวันนี้ด้วยแล้ว ดังเชิญมาพร้อมหนังสือนี้

อนึ่งมีพระราชกระแสว่า ทรงพระราชดำริเห็นควรเสนอต่อรัฐบาลด้วยว่า คดี ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา ออกจะคล้ายกันกับเรื่องนี้ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา ได้ขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่ได้โปรดเกล้าฯให้ตอบว่า คดียังอยู่ในศาลจึงให้รอไว้ก่อน ทรงเห็นว่า ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา ควรได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย มิฉะนั้น คณะรัฐบาลจะถูกติเตียนว่าเลือกที่รักมักที่ชักและขาดความยุตติธรรม ไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษแก่ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา แต่ก็ต้องถูกลงโทษจำคุกมานานพอใช้แล้ว ทรงเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่จะให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษเสียด้วย พร้อมกับนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวกนี้

อาทิตย์
ลงนามแทน ราชเลขานุการในพระองค์

เมื่อรับจดหมายนี้ เจ้าหน้าที่กรมเลขาธิการ ครม.ได้บันทึกว่า “มีพระราชกระแสเรื่อง ม.ร.ว.อักษรศิลป์ ด้วย เสนอนายกรัฐมนตรี [ลงชื่อ] ชำนาญอักษร ๑๒/๑๐/๗๖” ซึ่งเมื่อพระยาพหลได้รับ ก็มีคำสั่งว่า “ให้ทำขึ้นเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน จึงจะลงนามสนองพระบรมราชโองการ [ลงชื่อ] พระยาพหลฯ ๑๒ ม.ค. ๗๖”


ไม่มีประกาศอภัยโทษ เรื่องลงเอยด้วยการถอนฟ้องนั่นเอง ปลายมกราคม ๒๔๗๖
อย่างไรก็ตาม ผมไม่พบว่ามีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด (รายงานการประชุมครม.ช่วงนี้ยังมีอยู่ครบ) ยิ่งกว่านั้น ผมไม่พบว่าได้มีการประกาศพระบรมราชโองการให้อภัยโทษแก่ถวัติซึ่งพระปกเกล้าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วนั้นในราชกิจจานุเบกษาด้วย ผมอยากจะเดาว่า ประเด็นเรื่องอภัยโทษ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ ที่พระปกเกล้าทรงเสนอขึ้นใหม่ อาจทำให้พระยาพหลหรือผู้นำรัฐบาลบางคน (ไม่ใช่ ครม.เพราะไม่มีการนำเสนอ) เปลี่ยนใจเรื่องประกาศเป็นพระบรมราชโองการให้อภัยโทษถวัติ แล้วหันมาใช้วิธีสั่งให้อัยการถอนฟ้องแทน พวกเขาอาจจะถือได้ว่า พระปกเกล้าเองทรงมีพระราชกระแสว่า “จะจัดการอย่างไร ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลจะเห็นควร ไม่ทรงขัดข้อง” (หรือมิเช่นนั้น พวกเขาก็อาจจะมีความเห็นภายหลังว่า การอภัยโทษขณะคดีไม่สิ้นสุดไม่ควรทำหรือทำไม่ได้) ดังจดหมายต่อไปนี้ จากเลขาธิการ ครม.ถึงรัฐมนตรีมหาดไทย
ที่ ข.๘๐๘๔/๒๔๗๖

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ด้วยนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ในคดีที่อัยยการเป็นโจทก์ ฟ้องหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัยยการจัดการระงับคดีเรื่องนี้แล้ว ดั่งพระราชหัตถเลขาสั่งท้ายฎีกา ซึ่งได้เชิญมาพร้อมกับหนังสือนี้ เพื่อท่านจักได้ดำเนินการต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ความจริงที่หลวงธำรงเขียนว่า “โปรดเกล้าฯให้อัยยการจัดการระงับคดีเรื่องนี้แล้ว” นั้นไม่ตรงนัก ดังที่เห็นแล้ว ทรงลงพระปรมาภิไธยให้อภัยโทษต่างหาก เนื่องจากเราไม่มีฎีกาที่ถวัติทำถวาย (โดยความช่วยเหลือของ “ท่านวรรณ”) เราจึงไม่ทราบว่าพระปกเกล้าเขียนท้ายฎีกานั้นว่าอย่างไร แต่เดาจากจดหมายราชเลขานุการในพระองค์ วันที่ ๑๑ มกราคม น่าจะเพียงทรงเขียนทำนองว่า “ไม่มีพระราชประสงค์จะเอาโทษ” เท่านั้น ไม่ถึงกับเจาะจงว่าให้อัยยการถอนฟ้อง (เพราะทรงเห็นว่า “จะจัดการอย่างไร ก็สุดแล้วแต่รัฐบาล” มากกว่า)

ผมไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับกรณีนี้อีก แต่เข้าใจว่า อัยการก็คงถอนฟ้องไปในปลายเดือนมกราคม ๒๔๗๖ และเรื่องคงยุติเช่นนั้น


ข้อสังเกตบางประการจากกรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า
โดยส่วนตัว ผมไม่มีคำอธิบายกรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า นี้ ผมรู้สึกว่าหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะบอกว่าได้ว่า ถวัติทำเพราะอะไร? (ไม่ใช่ฟ้องศาลอย่างที่เป็นตำนาน เพียงพยายามยื่นฟ้องต่อสภาแต่ยื่นไม่สำเร็จ ในที่สุด เรื่องนี้เป็นเพียงข่าวจะยื่นฟ้องต่อสภาเท่านั้น) แล้วทำไมเขาจึงไปขอพระราชทานอภัยโทษ? ความสนใจของผมอยู่ที่ปัญหาเชิงกฎหมายและเชิงหลักการเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งกรณีนี้เสนอขึ้นมามากกว่า แต่ดังที่เห็นแล้วว่า แม้ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ ปัญหานี้ไม่ได้รับความสนใจหรือถกเถียงกันจริงจังเท่าใดนัก ภายหลังต่อมา เมื่อนักวิชาการเขียนเรื่องนี้หรือเขียนเกี่ยวกับถวัติ ก็สนใจที่จะนำเสนอในเชิงตำนานผู้กล้า (heroic tale) เป็นสำคัญ ต่อไปนี้ ผมจะขออภิปรายเพื่อแสดงให้เห็นประเด็นทางกฎหมายและทางหลักการที่ผมสนใจอย่างสั้นๆ

ผมคิดว่า รัฐบาลในขณะนั้นพูดถูกว่า โดยหลักการ รัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และทำในนามกษัตริย์ (“รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”, “ศาลของ...”) กษัตริย์ถูกฟ้องไม่ได้ แต่หลักการนี้วางอยู่บน (หรือต้องถูกกำกับโดย) หลักการอีกข้อหนึ่งคือ กษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรได้เอง คือทำอะไรโดยไม่มี “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” ไม่ได้ ผมคิดว่า คำอธิบายเรื่องนี้ของรัฐบาลได้บดบังประเด็นสำคัญนี้ไป เพราะไปเน้นเรื่อง “รัฐบาล-ศาลของพระเจ้าอยู่หัว” และเรื่องความแตกต่างระหว่างคดีแพ่งกับคดีอาญา ความจริงทั้งคดีแพ่งและอาญา ฟ้องกษัตริย์ไม่ได้ทั้งคู่ ประเด็นไม่เกี่ยวกับว่าเป็นแพ่งหรืออาญา ที่ฟ้องไม่ได้เพราะ “กษัตริย์ไม่สามารถทำผิดได้” เนื่องจากไม่สามารถทำอะไรได้เองหรือตามอำเภอใจตัวเอง และดังนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือถูกฟ้องได้ (แม้แต่เรื่องการพูดต่อสาธารณะ พระราชดำรัสต่างๆต้องผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นี่คือสิ่งที่ปฏิบัติจริงในสมัยนั้น) คือจะทำอะไรต้องมีผู้รับสนอง และผู้รับสนองนี้ แท้จริง คือผู้อนุญาตให้ทำ ดังนั้น ถ้าการกระทำนั้นผิด ผู้นั้นจึงควรเป็นผู้ถูกฟ้อง แม้จะทำในนามกษัตริย์ก็ตาม

แต่ถ้าในกรณีที่กษัตริย์ทำอะไรเอง โดยไม่มีผู้รับสนองหรือผู้อนุญาต แล้วการกระทำนั้นผิด ไม่ว่าจะอาญาหรือแพ่งก็ตาม ก็ต้องถือว่ากษัตริย์ทำผิดตั้งแต่ต้น ในแง่ทำอะไรเอง (ล้ำเกินขอบเขตที่จะทำได้ในฐานะกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ) อาญาหรือแพ่งไม่มีความสำคัญต่อเรื่องนี้ คือ ถ้าการกระทำนั้นมีผลกระทบในทางอาญา แต่ถ้ามีผู้รับสนอง การฟ้อง ความจริงก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องสภา ฟ้องศาลอาญาก็ได้ แต่ฟ้องผู้รับสนอง ไม่ใช่ฟ้องกษัตริย์ ในทางกลับกัน ถึงเป็นความผิดทางแพ่ง ถ้าไม่มีผู้รับสนอง ก็ไม่ใช่ต้องฟ้องกระทรวงวัง เพราะความผิดเป็นเรื่องอื่นตั้งแต่ต้น (คือการไม่มีผู้รับสนอง) จะฟ้องกระทรวงวังก็ไม่สามารถทำได้ ผมพูดเช่นนี้ ไม่ใช่พูดลอยๆ แต่มีกรณีที่เกิดขึ้นจริง คือในปี ๒๔๘๒ รัฐบาลมาค้นพบย้อนหลังว่า ในช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๗๗ ที่พระปกเกล้ายังเป็นกษัตริย์นั้น ทรงแอบโยกย้ายทรัพย์สินในกรมพระคลังข้างที่จำนวนหนึ่งไปไว้ในบัญชีธนาคารส่วนพระองค์ในต่างประเทศ โดยไม่มีผู้รับสนอง (คือทรงทำเอง ไม่มีใครอนุญาต) รัฐบาลจึงได้ดำเนินการฟ้องร้องทางศาลแพ่ง (ฟ้องในฐานะเป็นเอกชน เพราะสละราชย์แล้ว) แต่สมมุติว่า การค้นพบนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังทรงเป็นกษัตริย์ล่ะ? ความผิดในลักษณะแพ่งของพระปกเกล้าที่เป็นกษัตริย์นี้ จะให้ฟ้องพระคลังข้างที่หรือกระทรวงวังหรือ? ฟ้องพระคลังข้างที่ว่ากษัตริย์ยักยอกเงินพระคลังข้างที่โดยพระคลังข้างที่ไม่รู้? จะเห็นว่า ถึงเป็นความผิดทางแพ่ง ถ้าความผิดนั้น เกิดขึ้นโดยไม่มีผู้รับสนอง คือเกิดขึ้นเพราะกษัตริย์ทำอะไรไปเอง เรื่องก็ไม่เกี่ยวกับว่าต้องฟ้องพระคลังข้างที่หรือกระทรวงวังต่อศาลแพ่ง แต่จะต้องพิจารณาก่อนว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับการที่กษัตริย์ทำผิดด้วยการทำอะไรไปเองเช่นนี้ ใครจะพิจารณา? ผมคิดว่า ในกรณีเช่นนี้ (ซึ่งแม้จะมีต้นตอมาจากคดีลักษณะแพ่ง) คงต้องให้สภาพิจารณา

สรุปแล้ว ในความเห็นของผม ถ้ามีผู้รับสนอง ไม่ว่าจะแพ่งหรืออาญาก็ฟ้องไม่ได้ และไม่จำเป็นที่จะต้องแยกระหว่างฟ้องศาลในคดีแพ่งกับฟ้องสภาในคดีอาญา (แบบที่รัฐบาลสมัยนั้นอธิบาย) ฟ้องศาลได้ทั้งคู่ แต่ฟ้องผู้รับสนองไม่ใช่กษัตริย์ ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีผู้รับสนอง ก็ควรให้ฟ้องสภา ไม่ว่าคดีนั้นเป็นลักษณะใด เพราะต้องให้วินิจฉัยว่ากษัตริย์ทำผิดหรือไม่ ที่ละเมิดขอบข่ายอำนาจของตนในฐานะกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อมองเช่นนี้ จะเห็นว่า สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าคือ “พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ” นั้น พระปกเกล้าทำไปโดยไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากใคร ไม่มีใครลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในเอกสารนั้น (ถ้ามีผู้ลงนามรับสนอง ถวัติก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องพระปกเกล้า แต่ต้องฟ้องพระยา มโนหรือใครก็ตามที่ลงนามรับสนองนั้นแทน) ในแง่นี้ ทรงทำผิดหรือทำเกินขอบเขตอำนาจในฐานะกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (ต้องไม่ลืมว่า เรากำลังพูดถึงเอกสารที่โฆษณาเผยแพร่สู่สาธารณะในนามกษัตริย์ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนความเห็นกันภายใน ระหว่างกษัตริย์กับรัฐบาล ถ้าเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นภายใน คือพระปกเกล้าเขียนวิจารณ์ปรีดี แล้วอภิปรายกันภายใน ก็ย่อมทรงทำได้ ไม่เกินขอบเขต) มองในแง่นี้ ต้องกล่าวว่าเป็นความ irony ที่ว่า ความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ซึ่งถวัติคิดจะฟ้องพระปกเกล้าต่อสภานั้น แท้จริง เป็นความผิดที่เล็กกว่าความผิดจริงๆ ที่พระปกเกล้าทรงทำ (คือทำอะไรด้วยพระองค์เอง) ความผิดหลังนี้ เป็นความผิดในเชิงหลักการใหญ่ของระบอบการปกครองหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕(๒๑)