Wednesday, September 13, 2006

กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙



คืนวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกอากาศคำบรรยายของ ดร.หยุด แสงอุทัย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น เรื่อง “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” ๓ วันต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจกล่าวหาว่า ข้อความบางตอนในคำบรรยายนั้นมีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขอให้ดำเนินการกับหยุด วันต่อๆมา บทนำและคอลัมภ์ประจำในหนังสือพิมพ์บางฉบับได้เข้าร่วมการประณามหยุดและจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีที่ออกมาแสดงท่าทีปกป้องหยุด วิวาทะสาธารณะครั้งนี้ดำเนินต่อเนื่องกันประมาณ ๒ สัปดาห์ ก็เงียบหายไปหลังจากตำรวจออกมายืนยันว่าการกระทำของหยุดไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ผมเห็นว่า กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวว่าว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตอนต้นปี ๒๔๙๙ นี้ ไม่เพียงแต่น่าสนใจในตัวเองเท่านั้น ยังมีความสำคัญในแง่ที่เป็น “หลักบอก” (milestone) วิวัฒนาการของระบอบการเมืองหลัง ๒๔๗๕ ที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในประเด็นเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบนี้ กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ๒๔ ปีหลังการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนา หลักการพื้นฐานของการปฏิวัติในประเด็นนี้ (พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรแต่โดยความเห็นชอบของรัฐบาลหรือรัฐสภาเท่านั้น) ได้อ่อนกำลังลง จนนักเขียนจำนวนไม่น้อยสามารถนำเสนอสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการนั้นต่อสาธารณะในลักษณะราวกับว่าสิ่งที่เสนอนั้นเป็นบรรทัดฐานเสียเอง ขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ที่จะตามมาและกับปัจจุบัน กรณีดังกล่าวสะท้อนว่าขณะนั้นประเด็นสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะอภิปรายและถกเถียงในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาได้บ้าง ยังไม่ใช่ “สิ่งต้องห้าม” และหลักการพื้นฐานที่เกิดจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แม้จะอยู่ในสภาพอ่อนแรงแต่ก็ยังไม่ถึงกับถูกยกเลิกไปในบางพื้นที่สำคัญ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ในกระแสของเวลาทางประวัติศาสตร์ กรณีหยุดถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี ๒๔๙๙ เป็นเสมือน “จุดกึ่งกลาง” ระหว่าง ๒๔๗๕ กับเรา(๑)

จุดเริ่มต้น: พระราชดำรัสวันกองทัพบก ๒๕ มกราคม ๒๔๙๙
จุดเริ่มต้นของกรณีหยุดถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ๒ สัปดาห์ คือในวันที่ ๒๕ มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพบก (วันกองทัพไทยปัจจุบัน) ในหลวงได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสดังกล่าว ซึ่งได้รับการอ่านออกอากาศทางสถานีวิทยุ มีข้อความทั้งหมด ดังนี้
ทหารทั้งหลาย

วันนี้เป็นวันกองทัพบก ซึ่งได้เวียนรอบมาครบหนึ่งปีอีกครั้งหนึ่ง ท่านทั้งหลายจึงได้ร่วมกันกระทำพิธีที่ระลึกเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคี ในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ก็เป็นประเพณีและเป็นธรรมดาอยู่เองที่ท่านจะพิจารณาถึงกิจการที่ได้กระทำมาในขวบปีที่สิ้นสุดลง และกิจการที่ต้องดำเนินไปในภายหน้า การพิจารณาดังกล่าวนี้ย่อมต้องอาศัยหลักปฏิบัติและหลักการของพลรบ ผู้บังคับบัญชาของทหารย่อมทราบดีถึงหลักการและหลักปฏิบัติของทหาร ฉะนั้นในที่นี้ข้าพเจ้าเพียงแต่จะขอย้ำหลักการและหลักปฏิบัติใหญ่ๆที่ทหารหรือกำลังรบใดๆจะต้องยึดถือในการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน หลักสำคัญอันแรกที่ทหารทุกคนต้องระลึกถึงอยู่เสมอ คือความหมายและหน้าที่ของทหาร ประเทศเราเป็นประเทศที่รักความสงบ ไม่ชอบการรุกราน แม้กระนั้นก็ดี การมีกำลังรบย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบ ไม่ชอบการรุกราน แม้กระนั้นก็ดี การมีกำลังรบย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบ และอิสรภาพของประเทศ เมื่อทหารมีไว้สำหรับประเทศชาติ ทหารต้องเป็นของประเทศชาติ หาใช่เป็นของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆโดยเฉพาะไม่ เมื่อทหารเป็นหน่วยสำคัญสำหรับรักษาความสงบและอิสรภาพของประเทศ ทหารจึงต้องมีความเข้มแข็งและมีสมรรถภาพเป็นอย่างดี สมรรถภาพของทหารอยู่ที่วินัย ต้องเชื่อฟังคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปกครองทหารในทางที่ชอบควร โดยระลึกถึงความเที่ยงธรรมและหน้าที่อันมีเกียรติของทหาร ทั้งนี้เพราะทหารได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์เป็นผู้กุมอาวุธ และกำลังรบของประเทศ เป็นที่เคารพและเกรงขามในหมู่ชนทั่วไป ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่นไปเล่นการเมืองดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหารโดยเข้าใจว่าเอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เวลานี้สถานการณ์ทั่วโลกยังไม่อยู่ในระดับปกติ ความจำเป็นและความสำคัญของทหารย่อมมีมากขึ้น ทหารจึงควรรักษาวินัยโดยเคร่งครัด ประพฤติตนให้เที่ยงธรรม ปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ภายในขอบเขตของตนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นที่พึ่งที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไป

ที่ข้าพเจ้าได้ย้ำหลักสำคัญดังกล่าวแล้ว ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้นำไปประกอบการพิจารณาของท่านถึงผลปฏิบัติที่ได้รับในขวบปีที่แล้วมา และถึงการปฏิบัติหน้าที่ของท่านในกาลต่อไป ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบรรดาลให้ทหารทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเหมาะสมกับเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้รักษาความสงบและอิสรภาพของประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา.(๒)
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานว่า พระราชดำรัสนี้ “ได้ก่อให้เกิดความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง”(๓) โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่นไปเล่นการเมืองดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหารโดยเข้าใจว่าเอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว” ซึ่งมองกันว่าเป็นการวิจารณ์รัฐบาลที่มีกำเนิดมาจากคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ โดยตรง

จอมพล ป.ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในวันต่อมาว่า ปัญหาทหารควรเล่นการเมืองหรือไม่นั้นมองได้ ๒ แง่ “ถ้าหากทหารเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายเช่นเป็น ส.ส.ประเภท ๒ โดยพระบรมบราชโองการแต่งตั้ง ที่รัฐบาลรับรอง ก็ควรถือว่าเป็นการสมควร แต่ถ้าการกุมอำนาจใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาล ก็ต้องถือว่าผิดกฎหมาย” เห็นได้ชัดว่าเหตุผลของจอมพลอ่อน (ทหารเล่นการเมืองได้ รัฐธรรมนูญอนุญาต) เพราะประเด็นที่ทรงวิจารณ์นั้น ตั้งพระทัยให้คลุมถึงกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ทหารเล่นการเมือง ซึ่งคณะรัฐประหารเป็นผู้ประกาศใช้เองนั้น อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน น่าสังเกตว่า ตามรายงานหนังสือพิมพ์ สฤษดิ์ซึ่งเริ่มแสดงท่าทีออกห่างจากรัฐบาลที่มีจอมพลและเผ่าเป็นแกนนำ และผู้ซึ่งประมาณ ๑ ปีหลังจากนั้น จะเข้ายึดอำนาจและครอบครองต่อไปอีก ๖ ปีโดยได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก ได้ “ขอสงวนไม่ยอมวิจารณ์พระกระแสร์รับสั่ง แต่ได้แสดงความรู้สึกส่วนตัวภายหลังได้อ่านพระกระแสร์รับสั่งแล้วว่าไม่เกิดความรู้สึกอะไรเลย เพราะว่าผมก็อยากจะเลิกการเมืองอยู่แล้วเหมือนกัน ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในขณะนี้ก็เพราะเลิกไม่ได้ต่างหาก” โดยไม่ตั้งใจ พาดหัวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ให้ภาพความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่าง ๓ กลุ่ม (ราชสำนัก–พิบูล–สฤษดิ์) ได้เป็นอย่างดี:
[ในหลวง] เตือนทัพบก ‘ทหารที่ดีต้องไม่ยุ่งการเมือง’
สฤษดิ์ไม่ยอมวิจารณ์ – จอมพลว่า ‘ไม่ผิดกฎหมาย’
ควรกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ทรงวิจารณ์ในพระราชดำรัส – ทหารไม่ควรยุ่งการเมือง – เป็นประเด็นที่มีความเป็นมายาวนาน คือนับตั้งแต่ที่พระยามโนผู้ใกล้ชิดราชสำนักถูกผู้ก่อการ (ส่วนใหญ่คือทหาร) ยึดอำนาจคืนเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๗๖ เป็นต้นมา ราชสำนักและกลุ่มการเมืองนิยมเจ้าทั้งหลายได้ชูประเด็นนี้เป็นคำขวัญหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองสำคัญของกลุ่มตน บางครั้งออกมาในลักษณะที่กว้างออกไป คือเรียกร้องไม่เพียงแต่ทหาร แต่ข้าราชประจำทั้งหมดไม่มีตำแหน่งการเมือง (เป็น ๑ ใน “คำขาด” ๖ ข้อของกบฏบวรเดช) ในต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ เมื่อพวกนิยมเจ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นเวลาสั้นๆ (รัฐบาลควงระหว่างต้นพฤศจิกายน ๒๔๙๐–ต้นเมษายน ๒๔๙๑) ได้ผลักดันให้ประเด็นนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๙๒ ซึ่งถูกคณะรัฐประหารของพิบูล–เผ่าเลิกไปในปี ๒๔๙๕ แล้วเอารัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่ไม่ห้ามเรื่องนี้ ทั้งยังกำหนดให้มี ส.ส.ประเภท ๒ ที่รัฐบาลแต่งตั้งครึ่งหนึ่งของสภา มาใช้แทน ทำให้รัฐบาลสามารถมีทั้งรัฐมนตรีและ ส.ส.ประเภท ๒ ของตนที่เป็นทหารและข้าราชการประจำเป็นส่วนใหญ่ เมื่อใกล้จะถึงวาระการเลือกตั้งใหม่ในปี ๒๕๐๐ คือในช่วงเดียวกับที่ทรงมีพระราชดำรัสวันกองทัพบก ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เลิกส.ส.ประเภท ๒ หรือให้เลิกการที่ทหารและข้าราชการประจำมีตำแหน่งการเมือง

ข้อที่ควรย้ำในที่นี้คือ คำขวัญหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มนิยมเจ้าประเภทนี้ไม่เกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตย (อย่างที่ปัญญาชนรุ่นที่ปรากฏตัวในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ เข้าใจ) คือ ไม่ใช่เรียกร้องให้ทหารเลิกเล่นการเมืองเพราะเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เพราะว่าทหารที่เล่นการเมืองเหล่านั้นเป็นฐานให้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรกับราชสำนักและพวกนิยมเจ้า พูดง่ายๆคือ เป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจการเมืองของพวกนิยมเจ้าเอง (ด้วยการบั่นทอนฐานอำนาจของคู่แข่ง) จะเห็นว่าไม่กี่ปีต่อมา เมื่อสฤษดิ์ยึดอำนาจและใช้นโยบายฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้าน ก็ไม่มีเสียงเรียกร้องแบบนี้จากราชสำนักและพวกนิยมเจ้า (ในกรณี ส.ส.ประเภท ๒ ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพวกนิยมเจ้าเสนอให้เลิก แต่ให้มีสภาสูงแทนแบบรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ โดยที่สมาชิกสภาสูงนั้นไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ให้ “มอบอำนาจในการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงให้แก่พระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด โดยไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกเสนอให้ทรงแต่งตั้ง”)(๔)

พระมหากษัตริย์หลัง ๒๔๗๕: หลักการพื้นฐานและการปฏิบัติ

(ยังไม่เสร็จ)